14 ตุลาคม 2017

[n. exp.] (het khī khwāi)
EN : Psilocybe mushroom ; psilocybe magic mushroom ; Magic Mushroom ; Psilocybin mushroom.
สารออกฤทธิ์หลอนประสาทที่พบในเห็ดเมา สามารถปรับสภาพและจัดระเบียบสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารุนแรงชนิดที่ไม่มีทางรักษาให้มีอาการดีขึ้นได้ ซึ่งเป็นความหวังต่อการรักษาโรคทางจิตเวชนี้ในอนาคต
คณะนักวิจัยจากมหาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ตีพิมพ์ผลการศึกษาดังกล่าวในวารสาร Scientific Reports โดยระบุว่าได้ทำการวิจัยกับกลุ่มทดลองขนาดเล็กที่เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 19 คน โดยได้ให้ยาไซโลไซบิน (Psilocybin) ซึ่งสกัดจากเห็ดเมา 1 ครั้งแก่ผู้ป่วยทุกคน และมีการสแกนตรวจดูลักษณะการทำงานของสมองผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังรับยา 1 วันด้วย
ผลปรากฏว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการทดลองครึ่งหนึ่ง ไม่มีอาการซึมเศร้าเหลืออยู่หลังสร่างเมาจากยาแล้ว และสมองบางส่วนมีการทำงานที่เปลี่ยนไป โดยผู้ป่วยสามารถคงภาวะที่มีอาการดีขึ้นนี้ไว้ได้นานราว 5 สัปดาห์
ก่อนหน้านี้เคยมีผลงานวิจัยบางชิ้นที่ระบุว่า ยาซิโลซายบินซึ่งสกัดจากเห็ดเมาเป็นเสมือน "สารหล่อลื่นทางจิตประสาท" ที่ทำให้ผู้ป่วยหลุดพ้นจากวงจรการเกิดอาการซึมเศร้าได้ แต่งานวิจัยล่าสุดนี้สามารถชี้ได้ว่า คนไข้ที่รับยาดังกล่าวจะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่สมอง 2 ส่วน คือที่ส่วนอะมิกดะลา (Amygdala) ซึ่งเกี่ยวข้องอย่างมากกับการจัดการความรู้สึกกลัวและกังวล กับส่วนเครือข่ายประสาทอัตโนมัติที่ทำงานเมื่อสมองพักผ่อน (Default-Mode Network - DMN) ซึ่งจะมีความเสถียรขึ้นหลังได้รับยาดังกล่าว
ดร.โรบิน คาร์ฮาร์ต-แฮร์ริส ผู้นำทีมวิจัยระบุว่า สมองของผู้ป่วยซึมเศร้านั้นเหมือนอยู่ในภาวะปิดตัวไม่ตอบสนอง แต่หลังได้รับยาดังกล่าว ผู้ป่วยหลายรอบบอกว่ารู้สึกเหมือนสมองได้รับพลังงานกระตุ้นให้มีการจัดระเบียบใหม่ หรือถูก "รีเซ็ต" ให้ดีขึ้น รวมทั้งรู้สึกเหมือนกับเป็นคนใหม่
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเตือนว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและคนทั่วไปไม่ควรพยายามใช้เห็ดเมาด้วยตนเอง และยังคงต้องมีการทดลองเพิ่มเติมกับกลุ่มทดลองจำนวนมากขึ้น ก่อนที่จะแน่ใจได้ว่าสามารถนำไปใช้เป็นวิธีการรักษาโรคซึมเศร้าที่ปลอดภัยในอนาคต
เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า สำหรับประเทศไทย เห็ดขี้ควายจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โดยผู้ใดผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-15 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 - 1,500,000 บาท
นอกจากนี้ เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ยังระบุอีกว่า ในไทย พืชที่ให้สาร psilocybin หรือ psilocin และรวมถึงส่วนต่างๆ ของพืชดังกล่าว เช่น ดอกเห็ด ก้านเห็ด และสปอร์ของเห็ด ถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
ที่มาของบทความ : https://www.bbc.com/thai/international-41619943