top of page
ค้นหา

OPEN CASE STUDY by ชีวจิต

วันนี้จะมาเสนอบทความจากนิตยสาร ชีวจิต ฉบับเดือน September ปี 2565. เกี่ยวกับ "ประสบการณ์ใช้กัญชาทางการแพทย์ ปลอดภัย ได้ผล ไม่เสพติด."



ตั้งแต่ พ.ศ.2562-2565 มีคนไทยบางส่วนเข้าถึงการรักษาที่คลินิกกัญชาทางการแพทย์แล้ว ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจถึงแนวทางการเข้ารับบริการและขอบเขตในการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่ถูกต้องทั้งในระบบการแพทย์แผนปัจจุบันและแผนไทย ชีวจิตได้เรียนเชิญทีมแพทย์จากคลินิกกัญชาทางการแพทย์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี มาเล่าถึงข้อมูลและประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยที่เข้ามาปรึกษาที่คลินิกฯให้ฟังกันค่ะ


ในด้านการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน ชีวจิตได้เรียนเชิญเภสัชกรหญิงอาสาฬาเชาวน์เจริญ เภสัชกรชำนาญการ ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรแพทย์แผนไทยปฏิบัติการ กลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มาให้ข้อมูลที่ได้ทั้งสาระและความรู้ ไปติดตามกันเลยค่ะ



TRACKING SYSTEM

ลดความเสี่ยงให้ผู้ป่วยด้วยระบบติดตามข้อมูล


ก่อนจะไปถึงขั้นตอนการรักษา เภสัชกรหญิงอาสาฬาแนะนำว่า ผู้ป่วยที่ต้องการใช้ยากัญชาทางแพทย์ ควรเข้าระบบโดยติดต่อกับคลินิกกัญชาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข


"ปัจจุบันคลินิกกัญชาในสังกัดกระทรวงฯมีทุกจังหวัดในประเทศไทย แนะนำให้ลองโทร.ติดต่อสอบถามรายละเอียดวัน/เวลาที่เปิดทำการ วิธีนี้จะทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีมาตรฐานและระบบติดตามที่รัดกุม ทำให้เกิดประสิทธิผลและความปลอดภัยสูงสุดจากการให้ยากัญชา


"การเข้าสู่การรักษาตามระบบจะช่วยให้ผู้ป่วยได้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่มีคุณภาพเพราะมีการควบคุมคุณภาพตั้งแต่การปลูก การสกัดสาร ผ่านการจัดส่งให้คลินิกกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ มีการสั่งจ่ายโดยโรงพยาบาลใดไปที่ผู้ป่วยคนไหนเป็นการช่วยตรวจสอบได้ว่าผู้ป่วย A ไปเข้าคลินิกที่อื่นเพื่อรับยากัญชาซ้ำซ้อนหรือไม่ ถามว่ามีผู่ป่วยทำแบบนี้ไหม ช่วงแรกๆก็มีเหมือนกันที่พบว่าผู้ป่วยไปรับยาจากโรงพยาบาล 2-3 แห่ง แต่พบค่อนข้างน้อย การมีระบบติดตามเช่นนี้จะช่วยลดปัญหานี้ไปได้"



ในฐานะเภสัชกรยังเห็นว่าการให้ข้อมูลการใช้ยากัญชาอย่างละเอียดเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย โดยเภสัชกรหญิงอาสาฬาระบุว่า


"ในการจ่ายยาแต่ละครั้ง เราจะคำนวณการจ่ายยาให้พอดีถึงวันนัด เช่น 1 ขวดใช้ได้ 120 หยด ถ้าแพทย์ระบุให้ผู้ป่วยใช้วันละ 2 หยด เขาก็จะใช้ยาขวดนี้ได้ 2 เดือน ถ้ายาหมดเร็วกว่านั้นก็แปลว่าผู้ป่วยใช้ยาเกินจากปริมาณที่แพทย์ระบุ"


"สิ่งสำคัญคือ การให้คำปรึกษากับผู้ป่วย เภสัชกรจะให้ข้อมูลละเอียดมากในครั้งแรกของการรับยากัญชา ตั้งแต่สรรพคุณยา โดยเภสัชกรจะสอบถามถึงความคาดหวังหรือวัตถุประสงค์ที่ผู้ป่วยต้องการจากการใช้ยากัญชา หากมีความเข้าใจที่ผิดก็จะช่วยอธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง"


"เภสัชกรจะสังเกตผู้ป่วยว่ามีความสามารถที่จะใช้ยากัญชาได้เองอย่างถูกต้องหรือไม่ เพราะรูปแบบยาเป็นการหยดยาใต้ลิ้น หากสังเกตแล้วพบว่าผู้ป่วยไม่น่าจะหยดยากัญชาได้เองอย่างแม่นยำ เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีอาการมือสั่น เราจะแนะนำให้ญาติหรือผู้ดูแลเป็นคนช่วยหยดยาให้ การสังเกตผลข้างเคียงการดูอันตรกิติยาระหว่างยากัญชากับยาร่วมที่ใช้อยู่เดิม ว่าจะเสริมฤทธิ์หรือต้านฤทธิ์กันหรือไม่ รวมถึงทุกๆครั้งที่ตามนัดหมายจะมีการสอบถามขนาดการใช้ยาล่าสุด ติดตามประสิทธิผลจากยาด้วยแบบประเมินทางการแพทย์ และมีการติดตามความปลอดภัยจากค่าความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ การทำงานของตับและไต สอบถามผลการใช้ทั้งผลดีและผลข้างเคียง"


หากพบผลข้างเคียงจะให้คำแนะนำวิธีการแก้ไข เช่น แนวทางการปรับลดขนาดยา เวลาการใช้ยา รายละเอียดต่างๆเหล่านี้เป็นปัญหาเฉพาะบุคคลที่ทีมแพทย์ต้องคอยดูแล ซึ่งหาไม่ได้จากการซื้อยากัญชาใต้ดินมาใช้เอง ในส่วนที่ใช้ใต้ดินจะเป็นส่วนของคนที่มีประสบการณ์ในการใช้กัญชามานานมากกว่า 10 ปีและใช้ในรูปแบบสันทนาการนั่นเอง ซึ่งก็อยู่ในลักษณะการแพทย์แต่ในรูปแบบของคนใช้ที่มีประสบการณ์มามากกว่า


ทั้งนี้เราจะอธิบายให้ผู้ป่วยทราบว่า ยากัญชาต้องใช้ตามปริมาณที่แพทย์แนะนำ ถ้าใช้เกินจะมีผลต่อการรักษาอย่างไร มีผลต่อร่างกายอย่างไร แทนที่จะได้รับประโยชน์ถ้าใช้เกินอาจจะเกิดผลที่แก้ไขยาก เมื่อเราตั้งใจให้ข้อมูล ทำให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจตั้งแต่เริ่มรับยา เขาก็จะไม่ใช้ยาไปในทางที่ผิด




COLLECT DATA

เก็บข้อมูลผู้ป่วยสู่การขยายขอบเขตความรู้


เภสัชกรหญิงอาสาฬาอธิบายว่า จากการดูแลผู้ป่วยในช่วง พ.ศ.2562-2565 รวม 3 ปี มีผู้ป่วยใช้ยากัญชาที่พบบ่อยๆใน 2 กลุ่มโรค ดังนี้


นอนไม่หลับ มีช่วงวัยที่พบปัญหาหลากหลาย ตั้งแต่คนวัยทำงานที่มีความเครียดไปจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่มีปัญหานอนไม่หลับตามวัย พบว่า ยากัญชาช่วยให้ผู้ป่วยหลับดีขึ้น

"ดีขึ้นในที่นี้เท่าที่สอบถามผู้ป่วยก็มีหลายรูปแบบ เช่น หลับได้ไวขึ้น แต่ก่อนต้องใช้เวลานาน 2-3 ชั่วโมงกว่าจะหลับ เดี๋ยวนี้กหัวถึงหมอนก็หลับได้เร็วขึ้น บางรายเคยตื่นกลางดึกแล้วหลับต่อไม่ได้ ตอนนี้หลับได้ยาวขึ้นถึงเช้า รู้สึกหลับสนิทขึ้น บางคนเคยมีปัญหาตื่นเร็วเกินไป เช่น ตีสามก็รู้สึกตัวตื่น หลังใช้กัญชาแล้วก็หลับยาวและตื่นขึ้นมาในรอบเวลาการนอนที่เหมาะสม 6-8 ชั่วโมง"


"ที่น่าสนใจคือ ผู้ป่วยบางรายบอกว่า กัญชาไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงแบบเวลาใช้ยานอนหลับ เช่น รู้สึกง่วงซึม รู้สึกมึนๆเบลอๆยาวมาถึงเช้าวันรุ่งขึ้น เพราะยานอนหลับบางชนิดออกฤทธิ์อยู่ในร่างกายได้นาน โดยผลข้างเคียงเช่นนี้จะขึ้นอยู่กับชนิดยาและผู้ป่วยรายบุคคล ในกรณีที่ได้ผลดี ผู้ป่วยบางรายสามารถหยุดการใช้ยานอนหลับได้"


มะเร็งระยะท้าย เภสัชกรหญิงอาสาฬาระบุว่า มักพบว่ามีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปหลายๆตำแหน่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มาปรึกษาการใช้ยากัญชาจะผ่านการรักษาแผนปัจจุบันมาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมะเร็งที่เป็นอยู่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดหรือฉายแสงได้ไม่ดีเท่าที่ควร แพทย์จะแนะนำให้กลับไปพักฟื้นที่บ้าน ทำให้คนไข้มีความหวังกับยากัญชามากๆ


"เมื่อผู้ป่วยมาหาเราเขาก็หวังว่ากัญชาจะรักษามะเร็งได้เหมือนกับสมุนไพรอื่นๆในกระแสที่ผ่านมา ซึ่งข้อมูลทางการแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนชัดเจนว่าการใช้กัญชาอย่างเดียวจะสามารถรักษามะเร็งให้หายขาดได้"


"ถึงแม้ว่าจะมีงานวิจัยเบื้องต้นพบว่ากัญชามีฤทธิ์ยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้ ทำให้เกิดการเหนี่ยวนำการตายของเซลล์มะเร็ง ยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ที่ไปเลี้ยงเซลล์มะเร็งแต่เป็นงานวิจัยในหลอดทดลองและหนูทดลอง ยังไม่มีงานวิจัยขนาดใหญ่ในผู้ป่วยมะเร็งจริงๆ (Clinical Trial) ว่าจะได้ผลลัพธ์อย่างไร ต้องใช้ยากัญชาสูตรไหน ความแรงเท่าไหร่ในมะเร็งที่ต่างชนิดต่างระยะกัน"


"ดังนั้นเราจึงไม่แนะนำให้ผู้ป่วยมะเร็งใช้กัญชาเป็นยาหลักตัวเดียวในการรับมือกับมะเร็ง แต่ใช้เป็นยาเสริมที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นได้ โดยมีผลลดปวด ช่วยให้กินข้าวได้ ช่วยนอนหลับ ซึ่งเป็นอาการที่นับว่าเป็นความทุกข์ทรมานที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยมะเร็ง"


"จากประสบการณ์การดูแลผู้ป่วย เราสังเกตเห็นว่าผู้ป่วยบางคนก่อนใช้ยากัญชาจะมีหน้านิ่วคิ้วขมวดจากความเจ็บปวด หรือมีสีหน้าที่แสดงถึงความวิตกกังวลจากความเจ็บป่วย หลังจากผู้ป่วยใช้ยากัญชาไป 1 เดือน กลับมาเจอกันอีกทีตามนัดหมาย สีหน้าเขาจะดูดีขึ้น ดูแจ่มใส มีรอยยิ้มบนใบหน้า"


"ช่วงเปิดคลินิกแรกๆเราติดตามผู้ป่วยค่อนข้างถี่ คือรับยากัญชาวันนี้ วันรุ่งขึ้นก็โทร.สอบถามอาการเลย ผลการใช้ยากัญชาเรื่องแรกๆที่เห็นผลค่อนข้างเร็วคือ การนอนหลับ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะบอกว่าหลับดีขึ้นมาก หลับสนิทขึ้น ส่วนเรื่องลดปวดก็น่าพอใจ ในบางรายสามารถลดปริมาณและ/หรือลดความถี่ของการใช้ยาแก้ปวดแผนปัจจุบันได้ เช่น มอร์ฟีน ทรามาดอล"




THE SUPPORTIVE WAY

ใช้กัญชาเพื่อช่วยลดปวดควบคู่กับมอร์ฟีน


สืบเนื่องจากการดูแลอาการปวดในคนไข้มะเร็งระยะท้าย เภสัชกรหญิงอาสาฬาอธิบายว่า

"ในทางทฤษฎีมอร์ฟีนมีฤทธิ์ลดปวดได้ดีกว่ากัญชา กรณีผู้ป่วยมะเร็งที่มีความเจ็บปวดมาก เช่นมะเร็งแพร่กระจายไปที่กระดูก การใช้กัญชาอย่างเดียวอาจไม่สามารถควบคุมอาการปวดได้ทั้งหมด แพทย์จะใช้มอร์ฟีนกับกัญชาร่วมกัน"


"ด้วยความที่แพทย์ประจำคลินิกกัญชาทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเรามีความเชี่ยวชาญเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอยู่แล้ว เลยปรับการใช้ยาแก้ปวดแบบผสมผสานทั้งกัญชาและมอร์ฟีน เพื่อให้ควบคุมอาการปวดของผู้ป่วยให้ได้ผลดี"


"ยามอร์ฟีนมีข้อดีคือลดปวดและแก้หอบเหนื่อยได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ช่วยในการเจริญอาหาร แพทย์เลยใช้กัญชาเข้าไปช่วยเสริมให้ผู้ป่วยเจริญอาหาร เป็นการผสมผสานคุณสมบัติของยา 2 ตัวนี้เพื่อทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น"


"นอกจากนี้การใช้มอร์ฟีนขนาดสูงๆ ผู้ป่วยมักจะมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ เบลอ ท้องผูก การนำกัญชามาใช้ร่สมจึงทำให้ผู้ป่วยสามารถลดขนาดการใช้มอร์ฟีนได้ จึงช่วยลดผลข้างเคียง หรือในบางรายสามารถหยุดใช้มอร์ฟีนได้เลย"


"ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดไม่มากนัก ทั้งกัญชาและมอร์ฟีนออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลางเสริมฤทธิ์กันได้ เคยมีเคสที่ให้มอร์ฟีนกับกัญชาพร้อมกันแล้วผู้ป่วยหลับยาว ตื่นยาก เราเลยแก้ไขด้วยการใช้มอร์ฟีนเป็นหลักและใช้ยากัญชาห่างจากมื้อยามอร์ฟีน มักแนะนำให้ใช้กัญชาก่อนนอนหรือเป็นยาเสริมในช่วงที่มีอาการปวดรุนแรง และมีการนัดหมายเพื่อมาปรับยาเป็นระยะ จะสามารถคุมอาการปวดได้ดี"


ทั้งนี้เภสัชกรหญิงอาสาฬาระบุว่า ปัญหาที่พบในผู้ป่วยมะเร็งคือเรื่องความปวด ดังนี้

  • คนไข้ไม่แจ้งแพทย์แบบลงลึกในรายละเอียดว่าอาการปวดรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ใช้ยาอะไรคุมปวดอยู่เท่าไหร่ เช่น บางคนใช้ยาพาราอย่างเดียววันละหลายๆเม็ดทุกๆวันจนตับอักเสบ หรือซื้อยาแก้ปวดกินเองจนไตเสื่อม หากแจ้งแพทย์จะนำไปสู่การปรับยาชนิดแก้ปวดให้เหมาะสม

  • ไม่กล้าใช้ยามอร์ฟีนที่แพทย์ให้มาเพราะกลัวจะเสพติด จึงกินยาเฉพาะเวลาปวด ทำให้ได้ขนาดยาไม่ตรงตามแพทย์สั่ง ในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายจะมีความทุกข์ทรมานจากอาการปวดมาก หากแพทย์พิจารณาการสั่งใช้ยามอร์ฟีนเพื่อทุเลาปวดแล้ว ไม่ต้องกลัวว่าจะเสพติด แพทย์มักให้ชนิดออกฤทธิ์นานเพื่อหวังผลป้องกันความปวดที่จะปะทุขึ้น

ฉะนั้นขอให้คนไข้อ่านฉลากยาดีๆ กินยาตามแพทย์สั่ง เพราะบางครั้งแพทย์ให้กินมอร์ฟีนเพื่อป้องกันอาการปวด ไม่ต้องรอให้ปวดแล้วถึงกิน หากมีผลข้างเคียงหรือยังคุมปวดไม่ได้ก็กลับไปแจ้งแพทย์ เพื่อนำไปสู่การปรับขนาดยาที่เหมาะสมต่อไป


(ติดตามอ่านต่อที่ OPEN CASE STUDY by ชีวจิต [EP.2])

 
อ้างอิงจากหนังสือนิตยสาร ชีวจิต ฉบับเดือน SEPTEMBER 2022 (หน้า 102-105) เขียนโดย ศิริกร โพธิจักร.

รูปภาพจาก :
- สำนักข่าวกรมประชาสำพันธ์ (https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG200227154724533)
- โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต (https://ch9airport.com/th/บริการของเรา/คลินิกกัญชา/)


ดู 24 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page