top of page
ค้นหา

Cannabis and Human Body 101

(บทความโดย รัฐพล แสนรักษ์ / อรัญ เอเวอรี่)


พูดถึงกัญชาในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นแง่มุมของความเคลิบเคลิ้ม มึนเมา ที่เป็นภาพชินตาในการมองกัญชาของสังคม ส่วนหนึ่งอาจเพราะยุคสมัยที่มีคำว่ายาเสพติดและการผิดกฎหมายเข้ามาเป็นองค์ประกอบจึงเป็นเหตุให้กัญชาตกอยู่ภายใต้เงามืด โดยไม่มีการค้นคว้าวิจัยใดๆมาอย่างยาวนาน

 

การเข้ามาของวิทยาศาสตร์และการค้นพบที่น่ามหัศจรรย์เกี่ยวกับระบบการทำงานของกัญชากับร่างกายมนุษย์ปลุกชีวิตและทำให้กัญชากลับเข้ามาอยู่ใต้แสงไฟที่สาดส่องอีกครั้งในฐานะกุญแจที่เปิดประตูไปสู่ความเข้าใจการทำงานของระบบร่างกายสาเหตุของการเกิดโรคและการรักษาโรคต่างๆ ไปจนถึงการทำให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมายในหลายประเทศกลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างมากในปัจจุบันการทำงานของกัญชากับร่างกายมนุษย์คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงระบบการทำงานในร่างกายชื่อว่า Endocannabinoid System (เอ็นโดแคนนาบินอยด์ ซิสเต็ม) ที่จะนำพาคุณลึกลงไปสู่การเดินทางของสาร Cannabinoids (แคนนาบินอยด์) จากกัญชาผ่านเข้าไปสู่ระบบการทำงานที่ซับซ้อนเพื่อให้เราได้เข้าใจการทำงานของกัญชากับร่างกายมนุษย์ได้มากขึ้น


การค้นพบ Endocannabinoid System แม้ว่ามนุษย์เราจะรู้จักและใช้กัญชามานานหลายพันปีแต่น่าประหลาดใจที่เราเพิ่งเริ่มต้นเข้าใจองค์ประกอบและโครงสร้างทางเคมีของกัญชาเอาเมื่อปี ค.ศ.1964 โดยมีจุดเริ่มมาจากนักเคมีชื่อ Raphael Machoulam (ราฟาเอล เมคูลัม) และทีมวิจัยมากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์แมนประเทศอิสราเอลได้สกัดสารประกอบต่างๆในกัญชาเรียกว่าสาร Cannabinoids แยกเป็นหลายชุดและฉีกแต่ละชุดเข้าไปในลิงเพื่อค้นหาสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทจนได้พบสารชุดหนึ่งเมื่อฉีดเข้าไปในลิงที่ปรกติจะมีความก้าวร้าวกลับสงบลงอย่างมีนัยยะสำคัญและนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบสารสำคัญในกัญชาชื่อว่า Delta-9-tet-rahydrocannabinol หรือ △9-THC ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้นั่นเอง



การค้นพบ THC ของ Machoulam ก่อให้เกิดการค้นพบสาร Cannabinoids ในกัญชาต่างๆเพิ่มมากขึ้น มีงานวิจัยออกมาอีกมากมาย แต่วิทยาศาสตร์ยังคงไม่สามารถเข้าใจเข้าใจระบบการทำงานที่ซับซ้อนของ Cannabinoid ได้เพราะยังขาดตัวแปลสำคัญ จนเกินเวลาไปเกือบ 30 ปี จึงได้มีการค้นพบครั้งสำคัญขึ้นอีกครั้ง





ในปี ค.ศ. 1991 Miles Herkenham และทีมวิจัย ได้ค้นพบรับสารสื่อประสาท (Receptor) ของ THC ในร่างกายมนุษย์ชื่อว่า CB1 ทีมวิจัยได้พบต่อมรับสารสื่อประสาทนี้ในระบบสำคัญสำหรับการทำงานของสมองและร่างกายคือ Hippocampus (ความจำ), Cerebral Cortex (การรับรู้), Cerebellum (การทำงานรวมกันของระบบประสาทเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของร่างกาย), Basal Ganglia (การเคลื่อนไหว), Hypothalamus (ความต้องการพื้นฐานเช่น ความหิว, การสืบพันธุ์, และการพักผ่อน), Amygdala (อารมณ์) และที่อื่นๆ


ไม่นานหลังจากนั้นได้ค้นพบตัวรับสารสื่อประสาทตัวที่สอง ชื่อว่า CB2 ในระบบภูมิคุ้มกันและระบบประสาทส่วนปลายและยัพบใน กระเพาะ, ม้าม, ตับ, หัวใจ, ไต, กระดูก, เส้นเลือด, เซลล์น้าเหลือง ต่อมไร้ท่อต่างๆและอวัยวะสืบพันธุ์


การค้นพบตัวรับ CB1 และ CB2 ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ร่างกายมนุษย์เองก็น่าจะสามารถผลิตสารสื่อประสาทที่ทำงานกับตัวรับ CB1 และ CB2 แบบเดียวกับกัญชาได้ และ Raphael Machoulam บิดาแห่ง THC ก็ได้ค้นพบ Cannabinoids ที่ร่างกายสามารถผลิตขึ้นมาได้เอง ชื่อว่า Anandamide (อนันดามายด์) ในปี ค.ศ. 1992 และได้ค้นพบสารตัวที่สองชื่อว่า 2-AG (2-arachidonoylglycerol) ในปี ค.ศ. 1995 และเรียกระบบการทำงานของสาร Cannabinoids กับ ตัวรับสาร CB1 และ CB2 ที่กระจายอยู่ทั่วร่างกายว่า "Endocannabinoid System"



การทำงานของ Endocannabinoid System (ECS) Endocannabinoild System นั้นซับซ้อนและ ยุ่งเหยิง กว่าที่เราคิดไว้มาก แม้ปัจจุบันจะมีการค้นพบต่างๆมากมาย มีงานวิจัยออกมาเป็นต้น แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงเข้าใจได้เพียงแค่การทำงานขั้นพื้นฐานของระบบนี้เท่านั้น


โดยพื้นฐานแล้ว ECS คือระบบการทำงานของสาร Cannabinoids กับตัวรับสาร CB โดย Cannabinoids ทำงานเสมือนลูกกุญแจที่สามารถปลดล็อคตัวรับสาร CB1 และ CB2 เมื่อร่างกายหลั่งสาร Cannabinoids หรือได้รับจากกัญชาก็แล้วแต่ Cannabinoids เหล่านี้จะไปประกบเข้ากับ ตัวรับ CB1 หรือ CB2 และกระตุ้นให้เกิดการทำงานของตัวรับขึ้นด้วยความที่ต่อมตัวรับสาร CB1 และ CB2 นั้นมีอยู่ในเกือบทุกระบบของร่างกายจึงทำให้ ECS เป็นระบบสำคัญกับร่างกายซึ่งมีบทบาทต่อการควบคุมและการปรับสมดุลให้กับระบบสำคัญต่างๆในร่างกาย เช่น ควบคุมอุณภูมิควบคุมความเจ็บปวดควบคุมกระบวนการเผาผลาญไขมันและกลูโคสรักษาสมดุลพลังงานของร่างกายรักษาสมดุลของการเคลื่อนไหวอัตราการเต้นของหัวใจระบบความดันเลือด ฯลฯ จึงไม่แปลกที่วงการแพทย์ในยุคปัจจุบันหันมาให้ความสนใจกัญชามากขึ้นเป็นอย่างมาก


Cannabinoids (แคนนาบินอยด์) อย่างที่ทราบกันว่าสาร Cannabinoids นั้นถูกค้นพบในพืชกัญชาเป็นอันดันแรกและจากนั้นก็มาค้นพบในร่างกายมนุษย์วิทยาศาสตร์ในปัจจุบันจึงแบ่ง Cannabinoid ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ได้แก่

  1. Endogenous Cannabinoids หรือ Endocannabinoild คือ Cannabinoids ที่ผลิตขึ้นในร่ายกายสิ่งมีชีวิตพบได้ทั้งในร่างกายมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกือบทุกชนิดประกอบด้วยสารสำคัญ 2 ชนิด คือ Anandamine และ 2-AG (2-arachidonoylglycerol)

  2. Exogenous Cannabinoid คือ Cannabinoids จากภายนอกร่างกายที่ได้จากการผลิตขึ้นจากห้องแลบและ Cannabinoids ที่พบได้ในพืชกัญชา Cannabinoids ทั้ง 2 กลุ่มมีกระบวนการทำงานที่เหมือนกันแต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ Cannabinoids ที่ผลิตในร่างกายจะถูกผลิตแบบเฉพาะกิจโดยมีหน้าที่ ที่ชัดเจนและจะถูกย่อยสลายไปอย่างรวดเร็วต่างจาก Cannabinoids

ภายนอกที่ได้จากกัญชาจะถูกย่อยสลายได้ช้านั่นหมายความว่า Cannabinoids จากกัญชาจะสามารถกระตุ้นการทำงานของต่อม CB ได้เป็นเวลานานกว่า การที่ระบบการทำงานของ ECS ในร่างกายขาดสาร Cannabinoids อาจะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ รวมถึงการได้รับสาร Cannabinoids เพื่อไปกระตุ้นการทำงานบางอย่างก็อาจหมายถึงกระบวนการรักษาโรคที่ปัจจุบันยังรักษาโรคได้นาก Ethan Russo นักประสาทวิทยาลัยวอชิงตันได้สันนิษฐานไว้ว่าเมื่อใดที่ endocannabinoid ในร่างกายตำจะทำให้เกิดโรคไมเกรน, ปวดกล้ามเนื้อ, โรคลำไส้, และการเสื่อมสภาของร่างกายอื่นๆ



Cannabis (กัญชา)


ในปัจจุบันมีการค้นพบสาร Cannabinoids ในกัญชากว่า 85 ชนิด เช่น THCA, THCV, CBG, CBCA, CBN ฯลฯ แต่สารสำคัญที่มีบทบาทและวิทยาศาสตร์ เข้าใจมากที่สุดคือ THC และ CBD (Cannabidiol) Delta-9-tetrahydrocannabinol หรือ △9-THC คือสารหลักในกัญชาที่เรารู้จักกันดีกว่าเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาททำให้รู้สึกเคลิบเคลิ้ม ผ่อนคลาย มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของจิตประสาท และ เป็นตัวที่ใช้วัดค่าความแรงของกัญชาในสายพันธุ์ต่างๆ


เมื่อ THC เข้าสู้ร่างกาย THC จะไปประกบเข้ากับตัวรับสาร CB1 และ CB2 ซึ่งเป็นจุดเดียวกับ Anandamide (Cannabinoid ที่ร่างกายผลิตขึ้น) และกระตุ้นให้ตัวรับเหล่านั้นทำงานในแบบเดียวกับที่ Anandamine




การเดินทางของกัญชาเราสามารถได้รับสาร Cannabinoids จากกัญชาได้จาก 2 วิธีคือการสูบกัญชาโดยตรงและการได้รับทางการกินกัญชาในรูปแบบการสกัดหรือการปรุงเป็นอาหารต่างๆ ซึ่งวิธีการรับสารที่ต่างกันก็อาจสร้างผลที่แตกต่างกันได้ตามรูปแบบความต้องการใช้ที่แตกต่างกัน การสูบกัญชาโดยตรง นอกจากจะได้รับ Cannabinoids จากกัญชาแล้วยังได้สารไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการเผาไหม้อย่าง คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) ซึ่งทำให้ความสามารถของเลือดในการเป็นตัวนำออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อสมองลดลง และได้รับทาร์ (Tar) ในปริมาณที่สูงกว่าบุหรี่เพราะการสูบกัญชามักไม่นิยมก้นกรองซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ต้องถกเถียงกันว่าการสูบทาร์เข้าไปจะสามารถก่อให้เกิดมะเร็งหรือไม่ เพราะ ทาร์ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งอย่างชัดเจน แต่ข้อมูลที่เชื่อมโยงการสูบกัญชาและการเกิดมะเร็งปอดนั้น มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องและยังคงมีการถกเถียงกันอยู่ในเรื่องของรายละเอียด


การเดินทางของ Cannabinoids ที่ได้จากการสูบกัญชา จะเข้าสู้ปอด เดินทางผ่านถุงลมเล็กๆภายในปอดก่อนจะเข้าสู่ระบบต่างๆของร่างกายอย่างรวดเร็ว เมื่อ Cannabinoids ที่อยู่ในกระแสเลือดไปเจอตัวรับสาร CB ก็จะทำการประกบเข้ากับตัวรับสาร และเริ่มกระบวนการทำงานในระบบนั้นๆ การสูบกัญชาจึงกินเวลาไม่เกิน 10-15 นาทีในการออกฤทธิ์ ส่วนการได้รับ Cannabinoids จากการกินกัญชาในรูปแบบต่างๆนั้น Cannabinoids จะถูกส่งไปยังกระเพาะอาหาร ผ่านกระบวนการย่อยอาหาร ซึ่งอาจใช้เวลานาน 30-60 นาที ก่อนที่จะถูกส่งเข้าไปในกระแสเลือดและเริ่มทำงาน


กัญชาเองก็ไม่ได้ต่างจากสรรพสิ่งทั่วไปที่มีทั้งคุณและโทษในตัว ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับความพอดี การใช้ที่อยู่บนความพอดีก็มีประโยชน์มากมายกับผู้ใช้ ในทางตรงกันข้ามการใช้ในปริมาณที่มากเกินไป ก็อาจนำมาซึ่งผลร้ายเช่นกัน


ความพอดีดูเหมือนจะเป็นนามธรรมที่แม้แต่วิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่มีเครื่องมือที่ชี้วัดได้ คงต้องเป็นหน้าที่ของผู้ใช้ที่จะต้องพิจารณาตามเวลา โอกาส และความเหมาะสมด้วยตัวเองควบคู่ไป กับพื้นฐานความเข้าใจในการทำงานของกัญชากับระบบต่างๆของร่างกาย.



 

อ้างอิง : นิตยสาร Highland ฉบับเดือน มกราคม 2016 ; issue01 (หน้าที่ 21-25)


ดู 15 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentarios


bottom of page