(เรื่องโดย ธิติ มีแต้ม)
"มีอยู่สองเหตุผลหลักๆที่ทำให้ผมสนใจการใช้กัญชาในทางการแพทย์ก่อนจะเปิดประตูออกไปดูผู้คนที่ป่วยไข้และเลือกใช้กัญชาบำบัดเยียวยาทั้งส่วนตัวและคนในครอบครัว"
"เหตุผลแรก ผมเคยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะที่ 3 เมื่อช่วงวัยมัธยมฯ อายุเพียง 17 เท่านั้น"
"เหตุผลสอง ผมเป็นสื่อมวลชน"
เรามาค่อยๆคุยกันจากเหตุผลแรกก่อนแน่นอน ถ้าผมไม่เคยผ่านการป่วยด้วยโรคมะเร็ง เรื่องราวตั้งแต่บรรทัดนี้ไปอาจไม่มีอีก ในนามส่วนตัวนับว่าเป็นความโชคดีในความโรคร้าย มะเร็งทำให้ผมรู้จักมองหาสิ่งใหม่ๆ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า
อย่างน้อยวิธีการรักษา ซึ่งผมไม่มีโอกาสได้เลือกในวันเวลาที่ครอบครัวพาไปหาแพทย์แผนปัจจุบัน ก่อนจะได้รับรังสีบำบัดและเคมีบำบัดกลับมา เหมือนคนที่เป็นโรคมะเร็งส่วนใหญ่
แม้ช่วงเวลานั้นจะ "รุ้" ว่ามีกลุ่มคนที่เลือกวีถีธรรมชาติบำบัด แต่ก็ผ่านมาอีกกว่า 10 ปีถึงได้ "เห็น" ว่ามีคนที่เลือกรักษาโรคมะเร็งด้วยวิถีธรรมชาติบำบัด แม้ยังเป็นวิธีที่ผิดกฎหมาย
"กัญชา" เป็นสิ่งผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
แน่นอนอีกเช่นเดียวกัน หากกัญชาไม่เคยผิดกฎหมายเราอาจมองไม่เห็นความน่าสนใจ ทว่าเมื่อมันยังเป็นสิ่งผิดกฎหมายในสังคมไทย แต่มีผู้ป่วยเลือกใช้โดยไม่รอให้ถูกกฎหมายเสียก่อน จึงยิ่งน่าใครครวญหาเหตุผลไม่น้อย
แรกเริ่มผมเห็นชื่อ "ลุงตู้" บัณฑูร นิยมาภา หนึ่งในเครือข่ายผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ปรากฎในข่าว
นอกจากลุงตู้ยังมีกลุ่มพ่อแม่ที่มีลูกๆ ป่วยด้วยโรคสมองพิการ พวกเขาเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 เพื่อขอให้นายรัฐมนตรีใช้อำนาจมาตรา 44 ถอด "กัญชา" ออกจากบัญชียาเสพติดและพัฒนาทางการแพทย์
จากนั้นอีกราวครึ่งปีต่อมาผมจึงมีโอกาสได้พบพวกเขาผม่ไม่แน่ใจว่าในยุคสมัยนี้คนเรานับญาติกันอย่างไรพ้นไปจากเลือดเนื้อเชื้อไขสกุลเดียวกันแล้ว ใครเป็นพี่ใครเป็นน้อง ใครเป็นเพื่อน ใครเป็นครอบครัวเดียวกันบ้าง
ผมมั่นใจว่าถ้านับญาติโดยการเชื่อมด้วยโรคมะเร็งอาจง่ายกว่า เผลอๆทุกคนอาจเป็นครอบครัวเดียวกันหมด ครอบครัวที่มีโรคมะเร็งเข้ามาสานสัมพันธ์ในช่วงเวลาหนึ่งและเมื่อถึงเวลามันก็จะพาใครบางคนจากไป
พูดกันถึงที่สุด ไม่น่าจะมีใครที่คนในครอบครัวหรือเครือญาติไม่เคยผ่านความสูญเสียจากโรคมะเร็ง
เฉพาะในไทย รายงานจากกระทรวงสาธารณสุขยกให้มะเร็งเป็นเบอร์ 1 ของสาเหตุการตายถึงปีละกว่า 6.7 หมื่นคน ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2543 และสูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจราว 8 หมื่นล้านบาท
สำหรับลุงตู้ วันดีคืนดีเมื่อปี 2555 เขาพบว่าน้องสาวเป็นมะเร็งโพรงมดลูกระยะลุกลาม ความที่มีทุนเดิมเป็นหมอพื้นบ้าน รู้จักสมุนไพรพื้นถิ่น ทำให้ไม่ลังเลที่จะตามหากัญชามาใช้บำบัด เพราะแพทย์แผนปัจจุบันให้คำตอบว่าไม่เหลือทางรอดแล้ว
จากการทดลองฉีดเซลล์มะเร็งปอดของคนเข้าไปในตัวหนูและใช้สารสกัดกัญชาทดสอบ ภายใน 3 สัปดาห์สามารถลดขนาดของเนื้องอกได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับหนูที่ไม่ได้ใช้กัญชา และยังลดการแพร่กระจายเซลล์มะเร็ง ลดอาการบวมอักเสบได้ 60 เปอร์เซ็นต์
(รายงานวิจัย มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ค.ศ. 2007)
แรกๆที่ลุงตู้หากัญชามาต้มกับน้ำให้น้องสาวดื่มคล้ายจิบชา เขายังไม่ได้คิดถึงการรักษามะเร็งโดยตรง คิดเพียงว่าให้น้องสาวผ่อนคลายจากความเจ็บปวด สามารถกินข้าวได้และนอนหลับเป็นปรกติ ซึ่งเป็นความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับกัญชาที่ลุงตู้รู้มาเสมอ
แต่ความที่เป็นหมอพื้นบ้านผู้ชอบค้นคว้า เขาท่องไปในโลกโซเชียลมีเดียด้วยการพิมพ์แค่สามคำว่า "กัญชา" "มะเร็ง" และ "วิธีรักษา"
ไม่นานลุงตู้ก็พบรายงานการวิจัยเกี่ยวกับกัญชาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เผยแพร่ใน Science Daily ค.ศ. 2007 ระบุว่า จากการทดลองฉีดเซลล์มะเร็งปอดของคนเข้าไปในตัวหนูและใช้สารสกัดกัญชาทดสอบ ภายใน 3 สัปดาห์สามารถลดขนาดของเนื้องอกได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับหนูที่ไม่ได้ใช้กัญชา และยังลดการแพร่กระจายเซลล์มะเร็ง ลดอาการบวมอักเสบได้ 60 เปอร์เซ็นต์
ถ้าเข้าใจไม่ผิด ผลวิจัยดังกล่าวและงานวิจัยอีกหลายร้อยชิ้นที่เกี่ยวกับกัญชาในการรักษาโรคมะเร็งซึ่งปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวิภาพแห่งชาติ (The National Center for Biotechnology Information) สหรัฐอเมริกา น่าจะเป็นเหตุหนึ่งให้หลายรัฐในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรปดำเนินการแก้กฎหมายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้
แม้แต่งานวิจัยในการทดลองสารสกัดกัญชาที่ทำให้เซลล์มะเร็งท่อน้ำดีของผู้ป่วยจริงในหลอดลดทองฝ่อตายลงไป ซึ่งเป็นผลงานของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ก็ได้รับการยอมรับและบันทึกไว้ในศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาตินี้ด้วย
วาทกรรมว่ากัญชาเป็นยาเสพติดทำลายชาติจะยังขลังอยู่หรือไม่ ผมชักเริ่มไม่แน่ใจ
"พอมีหน่วยงานสากลที่น่าเชื่อถือออกมายืนยันว่าการรักษามะเร็งใช้กัญชาได้ผลชัดเจนที่สุด ผมก็ไม่รอสถาบันมะเร็งไทยแล้ว เริ่มศึกษาหาข้อมูลผ่านกูเกิลจนไปเจอคำอธิบายของ ริก ซิมป์สัน (Rick Simpson) ชาวอเมริกันที่สกัดน้ำมันกัญชาใช้รักษาตัวเองและสอนวิธีสกัดอัดคลิปลงในยูทูบ ผมก็เริ่มฝึกทำมาตั้งแต่ตอนนั้น"
สำหรับลุงตู้แล้ว ริก ซิมป์สัน ทำให้เขาตาสว่าง เพราะเขาเคยเชื่อว่ามะเร็งต้องพึ่งพาเคมีบำบัดหรือฉายแสงเท่านั้น แต่ ริก ซิมป์สัน อธิบายว่าคนที่เชื่อแบบนั้นเพราะถูกบริษัทยาและวงการสาธารณสุขหลอกเพื่อผลกำไรในการค้าขาย ยารักษามะเร็ง ทำให้ไม่เห็นทางเลือกอื่น ทั้งที่มีการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บมานานแล้ว
"แม้แต่บนผนังปราสาทตาพรหมในกัมพูชาที่สร้างขึ้นในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 11 ก็ยังมีรูปต้นกัญชาอยู่เต็มไปหมด"
ก่อนจะเป็นหมอพื้นบ้านและผู้เชี่ยวชาญด้านกัญชาลุงตู้สารภาพว่าเขาเคยเป็นแค่ไอ้ขี้ยาคนหนึ่ง ชอบสูบกัญชาจนต้องลาออกจากราชการตำรวจเมื่อปี 2522 ปีเดียวกับที่กฎหมายยาเสพติดประกาศใช้
"คนเจ็บไข้ได้ป่วยรอไม่ได้" ลุงตู้ตอบคำถามผมว่าทำไมถึงไม่รอให้กัญชาถูกกฎหมายเสียก่อนแล้วค่อยดำเนินการ
อดีตตำรวจขี้ยาบอกว่าเขาไม่อาจทนดูน้องสาวตายจากไปโดยที่เขายังไม่ได้ดูแลรักษาอย่างเต็มที่ ปัจจุบันนี้ผลการตรวจโรคของน้องสาวปรากฏว่าไม่มีเชื้อมะเร็งอยู่แล้ว
พอน้องสาวหายดี ลุงตู้เจอโจทย์ใหม่ท้าทายกว่าเดิม วิชัย ทองสวัสดิ์ วัย 86 ปี พ่อตาของเขามีอาการผิวหนังพุพองทั่วร่างกายและเริ่มอักเสบ เมื่อไปตรวจที่โรงพยาบาลพบว่าเป็นมะเร็งผิวหนังระยะที่ 4
ผมมีโอกาสพบคุณตาวิชัยที่บ้านในจังหวัดพิษณุโลกคุณตาเล่าให้ฟังว่าหมอบอกให้ทำใจเพราะเเป็นระยะสุดท้าย อยู่ในช่วงลุกลาม หมดทางรักษา ให้ได้แต่ยาแก้ปวดมากิน
"หมอพูดแบบนี้ก็ต้องทำใจเพราะคิดว่าอายุขนาดนี้แล้ว ต่อให้ไม่ป่วยก็คงอยู่อีกไม่นาน แต่ตอนนั้นลูกสาวหาน้ำมันกัญชาสกัดมาให้ใช้ ทาทั้งตัวเหมือนทาโลชั่น ทาเช้าทาเย็นแล้วก็กินและหยอดใต้ลิ้นเพื่อให้หลับ จากที่เคยปวดแสบปวดร้อนก็ค่อยๆหาย"
คุณตาวิชัยเปิดเสื้อให้ดูร่องรอยแผลเป็นที่หน้าอก เขาบอกผมว่าเมื่อก่อนผิวหนังเละ เหม็นหนองเหม็นน้ำเหลืองไปหมด แต่พอใช้กัญชาผ่านไปสัก 6 เดือนแผลก็เริ่มแห้งจากที่ลุกเดินไม่ไหวก็เดินได้ปรกติ
"มีชีวิตอยู่ถึงทุกวันนี้ถือว่าเหลือเชื่อแล้ว" คุณตาวิชัยยิ้ม
เมื่อพิสูจน์ด้วยกัญชาวิถีกับคนในครอบครัวที่เป็นมะเร็งถึงสองคนแล้วได้ผล ลุงตู้ใช้บ้านของตัวเองเป็นที่ผลิตน้ำมันกัญชาแบบครัวเรือนตามวิธีของ ริก ซิปม์สัน ด้วยการนำกัญชาที่หาได้มาแช่กับเอทิลแอลกอฮอล์ แล้วนำไปกรองเหลือแต่น้ำ ก่อนจะต้มในหม้อหุงข้าวเพื่อไล่แอลกอฮอล์ให้ระเหย จนได้เป็นน้ำมันกัญชาพร้อมใช้
วิธีต้มในหม้อหุงข้าวนั้นลุงตู้เรียกว่าเป็นวิธีสกัดแบบระบบเปิด แต่ระหว่างต้นกลิ่นกัญชากับเอทิลแอลกอฮอล์ จะตลบอบอวนมากเกินไป ทำให้คนที่อยู่ในบ้านเมาได้ ลุงตู้จึงหันมาใช้วิธีสกัดด้วยระบบปิด หรือวิธีสกัดเย็น คล้ายการกลั่นเหล้าด้วยอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตรืที่หาซื้อได้ทั่วไป
ทุกครั้งที่มีผู้ป่วยเดินทางมาหาลุงตู้ที่บ้าน เขาไม่ลังเลที่จะสอนวิธีผลิตหากว่าผู้ป่วยคนนั้นสามารถหากัญชาเองได้
เช่นเดียวกับชายหนุ่มที่นั่งตรงหน้าผม เมื่อครั้งพบกันที่บ้านลุงตู้สภาพร่างกายของเขาผอมโซ ไร้เรี่ยวแรง ดวงตาและผิวหนังแห้งผาก ผิวหนังที่คอและคางไหม้คล้ำดำกว่าผิวหนังส่วนอื่น แถมยังมีเส้นหมึกสีน้ำตาลแต้มเป็นตารางไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่เข้ารับการฉายแสง
"เวลาคุณป่วยเป็นมะเร็ง ร่างกายคุณจะเหมือนกำลังทำสงครามที่ผ่านมาคุณใช้แต่คีโม เหมือนปาระเบิดเข้าไป ทำให้ผู้บริสุทธิ์ตายเรียบ แต่กัญชาเป็นสไนเปอร์ เล็งตรงเป้า แม่น ร่างกายคุณฟื้นไว ไม่บอบช้ำ"
"ลุงตู้" บัณฑูร นิยมาภา
ผมทราบเพียงว่าเขาเป็นมะเร็งกล่องเสียง เขาได้แต่นั่งฟังและพยักหน้ารับลุงที่กำลังอธิบายวิธีการผลิตและรักษาด้วยกัญชาเพราะไม่สามารถส่งเสียงตอบโต้ได้
ผมเองก็สงสัยเหมือนที่หลายคนสงสัย ถ้าเป็นประเทศที่กัญชาถูกกฎหมายแล้ว การเปิดบ้านและเปิดเผยข้อมูลทุกซอกทุกมุมของลุงตู้ขนาดนี้คงเป็นเรื่องปรกติ แต่ในประเทศที่กัญชาเขายังผิดกฎหมายอยู่ ลุงตู้ไม่กลัว?
"หนุ่มที่เป็นมะเร็งกล่องเสียงคนนั้นก็เป็นตำรวจ กลัวทำไม น่าสงสารมากกว่า ถ้าเขาใช้กัญชาแล้วกินข้าวได้ นอนหลับ มีเรี่ยวแรง ไม่ดีกว่าเหรอ ที่สำคัญเขามีทางเลือก" ลุงตู้อธิบาย
แต่ไม่ใช่ตำรวจทุกคนที่ถูกรุมเร้าด้วยโรคมะเร็ง เมื่อกฎหมายยังไม่เปิด สำนึกของสังคมส่วนใหญ่ก็ย่อมถูกกดไว้ ลุงตู้บอกว่าสิ่งนี้ต้องช่วยกันพูด ช่วยกันยกระดับ
แม้แต่พลตำรวจโท สมหมาย กองวิสัยสุข ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ผบช.ปส.) ยังเคยออกมาให้สัมภาษณ์าสื่อมวลชนว่ากัญชาเป็นยา เพราะเขาใช้รักษาพี่สาวจนหายมาแล้ว ในกลุ่มไลน์ 'เวชศาสตร์' ที่มีสมาชิกเกือบ 500 คน ก็เต็มไปด้วยผู้ป่วย แพทย์ นักธุรกิจ อธิการบดี นายตำรวจ ปลัด อดีตรัฐมนตรี ที่ปรึษารัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ทุกคนล้วนมีความหวังในการผลักดันให้มีการทำความเข้าใจกัญชาใหม่
อดีตตำรวจสายเขียวอย่างลุงตู้เปรียบเปรยการเลือกกัญชาแทนยาแผนปัจจุบันว่า "ถ้าคุณเจอกุญแจไขเข้าบ้านได้ จะมัวใช้ชะแลงงัดประตูให้พังทำไม"
"ใช่ บางคนหาย แต่คนที่ไม่หายล่ะ" ผมถามตรงๆ
"ในข้อสงสัยเดียวกัน คุณถามตัวเองไหมว่าเวลาไปรักษาที่โรงพยาบาลแล้วไม่หาย คุณจะนับว่าวิธีรักษาแบบเดิมเป็นคำตอบสุดท้ายไหม"
มุมมองลุงตู้ทำให้ผมย้อนดูตัวเอง แม้ผลตรวจเลือด ผลเอกซเรย์ปัจจุบันเป็นปรกติ ไม่มีก้อนเนื้อปูดโปนลุกลาม แต่นั้่นไม่ได้แปลว่าจะไม่มีโอกาสกลับไปป่วยอีก และเท่าที่ทราบไม่มีใครมั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าเมื่อหายดีวันนี้วันหน้าจะยังแข็งแรงเป็นปรกติ
ยิ่งความเข้าใจว่าจะอยู่เป็นอมตะด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่ มีคนไม่น้อยสับสนว่าการหายจากความเจ็บป่วยกันเป็นอมตะเป็นเรื่องเดียวกัน ผลคือเมื่อป่วยซ้ำหรือต้องถึงเวลาตายกลับไม่อาจยอมรับความเป็นจริงได้ แทนที่จะตายด้วยความสงบกลายเป็นต้องทุกข์ทรมานทางใจไปด้วย
ผมคิดว่าโลกของการรักษาทางเลือก นอกจากทำให้ผู้ป่วยเห็นคุณค่าในตัวเองและมีกำลังใจพอที่จะลุกขึ้นมาดูแลตัวเอง มากกว่านั้นยังทำให้เข้าใจว่าชีวิตมีจุดสิ้นสุด เมื่อถึงเวลาของมัน แต่โลกทัศน์นี้ผมไม่ได้รู้สึกถึงเมื่อครั้งเลือกอยู่กับแพทย์แผนปัจจุบัน
กิจวัตรของลุงตู้ตอนนี้คือเขาจะตื่นช่วงเช้ามืด นำกัญชาที่ซื้อมาจากกลุ่มใต้ดินกิโลกรัมละ 1 หมื่นบาท มาแช่กับเอทิลแอลกอฮอล์ทิ้งไว้ประมาณ 2 วันเพื่อให้น้ำมันกัญชาคลายตัว จากนั้นก็นำไปต้มไล่แอลกอฮอล์ให้ระเหยไปจนเหลือแต่น้ำมันกัญชา 100 เปอร์เซ็นต์ ก่อนจะกรองเพื่อเอาตะกอนออกอีกครั้งจึงบรรจุใส่ขวด แจกจ่ายให้แก่ผู้ป่วยที่ขัดสนกำลังทรัพย์แต่จำเป็นต้องใช้ โดยรายได้หลักก็หมุนมาจากผู้ป่วยที่มีกำลังซื้อ คล้ายโซเชียลเอนเตอร์ไพรส์ขนาดเล็ก
"เวลาคุณป่วยเป็นมะเร็ง ร่างกายคุณจะเหมือนกำลังทำสงคราม ที่ผ่านมาคุณใช้แต่คีโม เหมือนปาระเบิดเข้าไปทำให้ผู้บริสุทธิ์ตายเรียบ แต่กัญชาเป็นสไนเปอร์ เล็งตรงเป้าแม่น ร่างกายคุณฟื้นไว ไม่บอบช้ำ เวลาเจ็บป่วยถ้ารู้วิธีรักษาที่มีต้นทุนถูกมันก็เข้าถึงคนง่าย กัญชาทุกคนปลูกได้เพราะมันเป็นวัชพืช (weed) ชึ้นง่ายเหมือนกระถินริมรั้วไม่ต้องดูแลมาก" ลุงตู้เปรียบเปรย
เขาบอกดีกว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เขาไม่เคยบอกว่ากัญชาจะทำให้ชีวิตเป็นอมตะ หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าใช้กัญชาแล้วจะไม่ตาย ไม่มีใครปฏิเสธความตายได้ แต่กัญชานอกจากช่วยยืดระยะเวลาออกไปและหลายคนก็หายขาดจากโรค แต่หลายคนที่ไม่หายก็ไม่ต้องทรมานจากความเจ็บปวดและความทุกข์จากการเสียเงินทองจำนวนมากเพราะการรักษาในโรงพยาบาลอีก
"มีอยู่เคสหนึ่งเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย รักษาที่โรงพยาบาลหรูได้ 3 อาทิตย์ พอ 2 วันสุดท้ายก่อนตายมีญาติเอากัญชามาให้ใช้ เขาพูดคำสุดท้ายก่อนสิ้นลมว่าไม่ปวดแล้ว ส่วนครอบครัวต้องจ่ายไปเกือบล้านเพื่อพาศพออกไปเผา"
ชีวิตเราก็เท่านี้ ! เปล่าหรอก คงดีกว่านี้ถ้าเลือกได้ว่าควรตายอย่างสงบ ถูกกฎหมายและไม่ต้องจ่ายแพง
ส่วนเหตุผลที่ 2 ในฐานะที่ทำงานสื่อมวนชนเมื่อมีโอกาสเรียนรู้เรื่องกัญชาในทางการแพทย์ ทำให้ผมเห็นว่าที่ผ่านมาโดยไม่รู้ตัว สื่อผลิตซ้ำความเลวร้ายของกัญชาในฐานะที่เป็นยาเสพติดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ไม่เห็นมุมมองอื่นที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง
กรณีที่ชัดเจนที่สุด ผมนึกถึงหมอซันเจย์ กุปตา (Sanjay Gupta) ปัจจุบันเป็นแพทย์ด้านศัลยกรรมอยู่ในเมือง แอตเลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา
เขาเปลี่ยนท่าทีและแสดงออกอย่างชัดเจนเมื่อรู้ว่ากัญชารักษาโรคได้หลายชนิด ก่อนหน้านี้สมัยที่ยังเป็นหัวหน้าผู้สื่อข่าวด้านการแพทย์ของสำนักข่าว CNN เขาเคยเขียนบทความคัดค้านการแก้กฎหมายเพื่อให้กัญชาถูกกฎหมายในการรักษาทางการแพทย์
จนกระทั่งปี 2556 เขาเปลี่ยนจุดยืนและออกมาประกาศขอโทษประชาชน แถมสนับสนุนการใช้กัญชาอย่างเต็มที่
ตอนหนึ่งในบทความของหมอซันเจย์เรื่อง "Why I changed my mind on weed" บอกว่าเขาเคยมีความเชื่ออย่างผิดๆ ว่าการขึ้บัญชีให้กัญชาเป็นยาเสพติดอันตรายนั้นเพราะมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ดีแล้ว แต่เอาเข้าจริงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนข้ออ้างที่ว่าเลย
"เราถูกชี้นำอย่างชั่วร้ายและเป็นระบบมานานเกือบ 70 ปี" หมอซันเจย์บอกและขอโทษที่ตัวเขาเคยมีส่วนร่วมในการชี้นำ เพราะเขาไม้ได้พิจรณาในมากพอ ไม่ได้สนใจเสียงและเหตุผลของผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นจากการใช้กัญชา
ปลายเดือนกันยายน 2560 โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล จังหวัดนนทบุรี เปิดห้องสัมมนาเรื่อง Career 4.0 ดูจากสายตาคร่าวๆ คนมาฟังไม่น่าต่ำกว่า 300 คน
นายแพทย์ สมนึก ศิริพานทอง กรรมการสมาคมเซลล์บำบัดไทย เป็นแพทย์ส่วนน้อยที่ออกมาเป็นวิทยากร อธิบายกัญชาทางการแพทย์ทางทฤษฎีผ่านประสบการณ์ตรงที่ตัวเขาศึกษาจากผู้ป่วยมะเร็งที่เลือกใช้กัญชา
เขาอธิบายว่า ปรกติเวลาแพทย์ตรวจพบผู้ป่วยเป็นมะเร็งวืธีรักษาทั่วไปคือ การฉายสี และ เคมีบำบัด ซึ่งจะเห็นผู้ป่วยที่รักษาแล้วไม่หายขาดหรือเสียชีวิตภายหลังเสมอเพราะเกิดการกลายพันธุ์ของยีน TP53 ที่คอยป้องกันมะเร็งซึ่งมีอยู่ในตัวทุกคน และจากงานวิจัยหลายชิ้นของต่างประเทศระบุชัดเจนว่ากัญชาทำหน้าที่เหมือน TP53 ไม่ได้มีผลต่อสุขถาพ ไม่มีข้อมูลว่าคนที่ใช้กัญชาเกินขนาดแล้วเสียชีวิต นอกจากมีอาการเมา ล่องลอย และความดันต่ำเท่านั้น
"ผู้ป่วยมะเร็งหลายคนที่ใช้กัญชามาให้ผมตรวจเลือดปรากฎว่าค่าเซลล์มะเร็งลดจริง แต่คนเหล่านี้คือคนที่ปฏิเสธการใช้คีโมกับฉายแสงมาแล้ว หลายคนตั้งคำถามกับผมว่าในไทยยังไม่มีงานวิจัยรองรับทำไมถึงออกมาพูดแบบนี้ ผมบอกว่าคุณมาดูสิ ผู้ป่วยตัวเป็นๆ ที่ใช้กัญชายังมีชีวิตอยู่ ทั้งมะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ ปลอกประสาทเสื่อม ก้านสมองอักเสบ แล้วใช้ชีวิตได้ปรกติไม่ทุกข์ทรมาน ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าทำไมผมถึงพูดแบบนี้ แต่อยู่ที่ว่าทำไมไทยถึงไม่มีงานวิจัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง"
"ผู้ป่วยมะเร็งหลายคนที่ใช้กัญชามาให้ผมตรวจเลือด ปรากฏว่าค่าเซลล์มะเร็งลดลงจริง แต่คนเหล่านี้คือคนที่ปฏิเสธการใช้คีโมกับฉายแสงมาแล้ว ประเด็นอยู่ที่ว่าทำไมไทยถึงไม่มีงานวิจัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง"
เช่นเดียวกับที่หลายคนสงสัย ผมก็สงสัยว่าสารอะไรในกัญชาที่เข้าไปต่อสู่กับมะเร็ง นายแพทย์สมนึกอธิบายว่าในกัญชามีสาร 2 ชนิดหลักๆ ที่ทำหน้าที่ร่วมกัน คือ สาร CBD (cannabiniol) และสาร THC (tetrahydrocannabinol) ตัวแรกทำหน้าที่ช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียน ลดการอักเสบบวมโตของแผลหรือเนื้องอก ระงับเซลล์มะเร็งที่กำลังเติบโต ระงับการเกร็งหรือชักกระตุก และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในระบบประสาทได้
ส่วนสารตัวหลังนั้นมีผลในทางจิต ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย เคลิบเคลิ้ม หรือที่หลายคนใช้แล้วรู้สึกเมา ตัวเบาอีกทั้งยังเป็นตัวที่ทำให้ระบบประสาทสัมผัสทำงานดีขึ้น ช่วยกระตุ้นให้อยากอาหาร
นายแพทย์สมนึกบอกอีกว่า วิธีรับสารในกัญชาจากการสูบที่คนทั่วไปรู้จักดีจะได้สาร CBD และ THC น้อยกว่าการกินหรือหยอดใต้ลิ้น เพราะอย่างหลังคือกัญชาที่สกัดเป็นน้ำมันเข้มข้นแล้ว
"บางรายที่เขารักษาโรคผิวหนังก็ใช้ทา ส่วนบางรายที่รักษาลำไส้ใหญ่ ริดสีดวง หรือมะเร็งปากมดลูก รังไข่ เขาก็จะใช้สวนทางทวารหรือช่องคลอด ส่วนที่หยอดใต้ลิ้นคือ คนที่รักษาจากอาการทางสมอง เพราะการหยอดน้ำมันกัญชาใต้ลิ้นมันจะซึมผ่านระบบประสาทไวกว่าการกินี่ต้องผ่านระบบย่อยของทางเดินอาหาร" นายแพทย์สมนึกฉายภาพชัด
ระหว่างที่วิทยากรอธิบายทฤษฎีทางการแพทย์บทเวทีที่ด้านล่างก็ต้องตกใจ ไม่มีใครคิดว่าจู่ๆ จะมีผู้ฟังชายที่ด้านล่างก็ต้องตกอกตกใจ ไม่มีใครคิดว่าจู่ๆ จะมีผู้ฟังชายวัยกลางคนเกิดอาการตัวเกร็งล้มลงไปชักกระตุกอยู่ที่พื้น
พยาบาลสาวสองคนปรี่เข้ามาประคองศรีษะและปฐมพยาบาลเบื้องต้นไม่ให้เขากัดลิ้นตัวเอง แต่อาการชักยิ่งดูรุนแรงขึ้น ลุงตู้ซึ่งยืนอยู่ใกล้ๆ หยิบขวดน้ำมันกัญชาออกจากกระเป๋าเสื้อและหยดใส่ใต้ลิ้นเขาทันที
ทั้งๆที่กล้องอยู่ในมือถือผมกลับไม่ได้ถ่ายรูปไว้เพราะมันแต่ตกใจ แต่ท่ามกลางสายตาคนหลายร้อยในวันนั้นก็เป็นพยานได้ว่าไม่ถึง 20 วินาที อาการลมชักของชายคนนั้นหายไป เขาค่อยๆ ลุกยืนเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก่อนที่ทีมพยาบาลจะพาเขาไปนอนพักที่เตียงคนไข้
เห็นอาการชักกระตุกของชายคนนั้นแล้วนึกถึง เอมีเลีย นูเนช (Amylea Nunez) ทารกหญิงวัย 2 เดือนที่รัฐนิวเม็กซิโก
พ่อและแม่ของเธอบอกว่าลูกสาวเป็นโรคลมชักชนิดพิเศษและแพทย์ไม่อาจหาทางรักษาได้ จนครอบครัวต้องตัดสินใจพาเอมีเลียย้ายมารักษาที่รัฐโคโลราโด
ทารกน้อยได้รับยาหลายชนิดแต่อาการก็ไม่ดีขึ้น พ่อของเธอเกรงว่าการใช้ยาจะทำให้แย่ต่อตับลูกสาว จึงหันมาพึ่งน้ำมันกัญชาแทน แล้วเอมีเลียก็มีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากการใช้กัญชารักษาโรคมะเร็ง กรณีผู้ป่วยโรคลมชักและสมองพิการแทบจะเป็นเคสแรกๆ ที่สะท้อนว่าผลจากการใช้กัญชาทำให้พวกเขาไม่ต้องทุกข์ทรมานกับอาการที่รักษาไม่หายขาด
ปิยมาต เหล็กแดง เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเพราะสามีเป็นมะเร็งเสียชีวิตไปเมื่อ 7 ปีก่อน ผมพบเธอครั้งแรกที่คลินิกเอกชนแห่งหนึ่งใจกลางเมือง เนื่องจากเธอเดินทางไปรับน้ำมันกัญชาจากลุงตู้พร้อมกับครอบครัวที่มีลูกหลานป่วยสมองพิการอีกนับสิบครอบครัว
ผมตามไปพบเธอที่บ้านเช่าย่านบางพลี สมุทรปราการ อีกครั้ง เพื่อดูอาการจากการใช้กัญชาของน้องนาโน ลูกสาววัย 9 ขวบ ป่วยพิการทางสมอง
เธอเล่าให้ฟังว่าตอนคลอดน้องนาโนใหม่ๆ ยังพักใกล้โรงงาน จนวันที่ 29 ลูกสาวเริ่มมีอาการกระตุกเป็นช่วงๆ และชัก ปิยมาตพาลูกไปโรงพยาบาล
"นอนโรงพยาบาลอยู่ 1 เดือน หมอบอกว่าเรามาช้าไป เด็กชักนานเกินทำให้สมองขาดออกซิเจน จากนั้นพาลูกกลับบ้าน เขาก็ไม่แสดงอาการอะไรเลยได้แต่นอนนิ่งๆเหม่อลอย ฉีดยา เจาะเลือดก็ไม่ร้องไห้ด้วย เหมือนเด็กไร้ความรู้สึก เราเองก็รู้สึกว่าเหมือนเลี้ยงท่อนไม้"
พอน้องนาโนอายุครบ 3 เดือน ปิยมาตพาไปตรวจที่โรงพยาบาลเด็ก หมอบอกเธอว่าลูกสาวสมองพิการ
"ตอนนั้นหูอื้อ ได้แต่เสียใจ เดินร้องไห้เหมือนคนบ้า จากนั้นมาลูกก็เริ่มมีอาการชัก เกร็ง กระตุก บางทีมีอาการกระตุกตลอด 4-5 ชั่วโมง บางวันก็มีอาการทุกชั่วโมง เราเลี้ยงคนเดียวก็ยิ่งเครียด ที่ผ่านมาน้องนาโนกินยาวันละแปดเม็ด เป็นยาคลายกล้ามเนื้อกับยากันชัก แต่ก็ไม่แค่ทุเลา แป๊บเดียวก็ชักใหม่"
จนกระทั่งน้องนาโนอายุ 7 ขวบ ปิยมาตมีโอกาสเจอลุงตู้ทางเฟสบุ๊ก และลุงตู้ก็ให้น้ำมันกัญชามาใช้ฟรี พอใช้ไปแค่สองครั้งลูกก็ไม่มีอาการชักเกร็งอีกเลย
เธอบอกว่าน้องนาโนเป็นเคสแรกที่ลุงตู้ส่งน้ำมันกัญชามาให้ใช้ จากนั้นในเครือข่ายผู้ป่วยที่รู้จักกันก็เรียกน้ำมันกัญชาว่าน้ำมันนาโนมาตลอด
"ก่อนหน้านี้พยายามทำใจกับการรักษาแล้ว แต่พอเล่นโซเชียลเน็ตเวิร์กก็เลยค้นดูว่าอาการแบบน้องนาโนชาวบ้านเขารักษากันแบบไหนได้อีก จนไปเจอข้อมูลว่ากัญชาช่วยเรื่องอาการชักได้ดี วันแรกที่ติดต่อไปลุงตู้บอกว่าลูกเราเป็นเด็กสมองพิการคนแรกที่จะใช้กัญชานะ เราก็หวั่นๆว่าลูกใช้แล้วจะตายไหม พอถามหมอที่โรงพยาบาลเด็กเขาบอกใช้ได้ เราก็ลองใช้วิธีหยดใต้ลิ้นก่อนอาหารเช้าเย็น อาการลูกก็ดีขึ้นจริงๆ เขากินข้าวได้ นอนหลับได้ เพียงแค่สมองพิการทำให้ไม่สามารถลุกขึ้นมาวิ่งเหมือนเด็กทั่วไปแล้ว ตรงนี้เราทำใจได้"
เมื่อแม่น้องนาโนมั่นใจว่าลูกตัวเองใช้กัญชาแล้วอาการดีขึ้น จึงบอกต่อบรรดาผู้ปกครองที่มีลูกสมองพิการ แต่เธอไม่ได้บังคับและย้ำว่าให้หาข้อมูลด้วยตัวเองก่อนตัดสินใจใช้ ปิยมาตเปลี่ยนเป็นทุกๆ 6 เดือนแทน เพื่อให้หมอช่วยดูพัฒนาการ
"บางคนที่รู้ว่าเราใช้กัญชากับลูกก็มาบอกเราว่าทำไมทำแบบนั้น ไม่รู้เหรอว่าเป็นยาเสพติด เราก็ไม่ตอบโต้อะไร แต่ถ้ากัญชาถูกกฎหมาย อย่างน้อยก็สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการใช้ สามารถใช้ได้โดยไม่ต้องกังวล หลบๆ ซ่อนๆ ว่าจะทำผิดอีก ก็คงไม่ต้องตอบคำถามเหล่านี้"
นอกจากเด็กป่วยสมองพิการ ผมพบผู้ใหญ่อีกคนที่ใช้น้ำมันกัญชารักษาตัวเองจากภาวะสมองถูกกระทบกระเทือนรุนแรง
สุเทพ เลาหะวัฒนะ อดีตผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้และอดีตซีอีโอหลายบริษัท เราพบกันบนภูสูงตอนเหนือของประเทศ เขาเล่าว่าเมื่อหลายเดือนก่อนประสบอุบัติเหตุของประเทศ เขาเล่าว่าเมื่อหลายเดือนก่อนประสบอุบัติเหตุหัวกระแทกขอบสระว่ายน้ำจากท่าตีกรรเชียงทำให้สลบไปและมีเลือดคั่งในสมองจนแพทย์ต้องผ่าตัดใหญ่
หลังจากที่เขาฟื้นขึ้นมาภายในวันเดียว แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดแปลกใจเพราะส่วนใหญ่คนอายุกว่า 70 ปีมักใช้เวลา 3-4 วันหรือเป็นสัปดาห์ในการฟื้นตัว
"ผมบอกหมอว่าผมใช้กัญชามาก่อน" สุเทพเล่าปนเสียงหัวเราะ และหลังจากนั้นเขาก็ยังใช้กัญชาบำบัดอาการปวดไมเกรนของตัวเองมาตลอด
ส่วนแม่ของเขาเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่อ 5 ปีก่อน สุเทพก็หาน้ำมันกัญชามารักษาอาการแม่ ทั้งการหยอดใต้ลิ้น กินเป็นแคปซูล และสวนทางทวาร ปัจจุบันแม่ของเขายังมีชีวิตอยู่โดยไม่เจ็บปวดในวัย 102 ปี ถึงตรงนี้ เมื่อเราเปลี่ยนโฟกัสใหม่ จากที่เคยมองกัญชาในฐานะสมุนไพรที่ช่วยสร้างความบันเทิงและเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เราได้ทำความรู้จักโลกของกัญชาในมุมอื่นๆ
อันที่จริงเราอาจจะเปลี่ยนอะไรในกัญชาไม่ได้ แต่กัญชาสามารถเปลี่ยนเราได้ อย่างน้อยก๋ทัศนคติที่เปิดกว้างขึ้นและแน่นอนว่าต้องเป็นทัศนคติที่เปิดเผย ไม่ใช่ปิดลับ
ใครจะไปรู้ ตอนท้ายของผู้ร้ายอาจกำลังจะกลายเป็นพระเอก ☮︎
อ้างอิงจาก : นิตยสาร "สารคดี" ฉบับที่ 404 เดือน ตุลาคม ปี 2561 (หน้าที่ 64-78)
Comments