เมื่อเมืองไทยปลดล็อก "กัญชา" เพื่อใช้ในทางการแพทย์ได้ ทำให้ไทยเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อนุญาตให้ใช้ "กัญชา" เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และวิจัย ซึ่งน่าจะมีประโยชน์มากๆ กับผู้ป่วยไทยในอนาคต ก่อนจะไปถึงวันนั้น ลองมาดู Case Study ของต่างประเทศกันก่อนดีกว่า
ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐ มีบทความหนึ่งน่าสนใจ เกี่ยวกับการใช้ "กัญชาทางการแพทย์" ของ Meg Lewellyn ผู้หญิงต่างชาติคนหนึ่งที่ป่วยเป็นโรค MS เพื่อรักษาอาการเจ็บปวดจากโรคดังกล่าว เราเลยอยากเอาประโยชน์ของ "กัญชา" จากเคสนี้ มาบอกต่อ
ขอเกริ่นให้ฟังก่อนว่า โรค MS (Multiple Sclerosis) คือ โรคปลอกประสาทเสื่อม สาเหตุเกิดจากภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ทำลายปลอกประสาทส่วนกลางจนอักเสบ อันได้แก่ สมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาทตา ทำให้มีผลกับการควบคุมการทรงตัว การมองเห็น กล้ามเนื้อ รวมทั้งอวัยวะต่างๆด้วย
ผู้ป่วยจะรู้สึกชาหรือปวดตามร่างกาย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดตามตัวและข้อ กล้ามเนื้อกระตุก สายตาพร่ามัว และที่น่ากลัวคือ โรคนี้เกิดกับ "ผู้หญิง" ได้มากกว่าผู้ชาย
"กัญชาทางการแพทย์" แก้อาการปวด
1. เมื่อรู้ตัวว่าป่วยโรค MS
ในปี 2007 (พ.ศ. 2550) Meg Lewellyn พบว่าตัวเองป่วยเป็นโรค MS หรือโรคปลอกหุ้มประสาทอักเสบ เธอเป็นแม่ของลูกๆ 3 คน คือ เด็กอายุ 9 ขวบ, 7 ขวบ และ 5 ขวบ (ในเวลานั้น) ก่อนที่จะป่วย เธอเป็นผู้หญิงที่แอคทีฟมาก เธอไม่ชอบทำให้ใครผิดหวัง และไม่ต้องการแสดงความอ่อนแอให้ใครเห็น แต่โรค MS ทำให้ชีวิตเธอแย่และอ่อนแอลงในทุกๆด้าน
ในตอนแรกที่เริ่มป่วย เมกรู้สึกว่าความคล่องตัวต่างๆ หายไป ท้องผูกมาก และไม่มีแรงจะเดิน (จากเดิมเธอเคยออกไปวิ่ง 6-8 ไมล์เป็นประจำ 6 วันต่อสัปดาห์) ต้องอาศัยไม้เท้าพยุงตัว หรือใช้ Segway ช่วยในการเคลื่อนที่ ซึ่งมันน่าอับอายมาก
2. อาการปวดจากโรค MS
ในระหว่างที่ทำการรักษาโรค MS เธอก็มักจะมีอาการเจ็บตามตัวอยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าเจ็บตลอดเวลา แต่มักจะเจ็บเมื่อตอนเธอไปออกกำลังกายที่ยิม เธอบอกว่า...มันเจ็บปวดมากจนตัวเกร็งและกระตุก แต่พอผ่านไปสักพัก อาการจะทุเลาลงแล้วหายไป เธอก็เลยยังพอรับได้อยู่
3. ผ่านไป 4 ปี เหมือนจะดีขึ้น?
หลังจากผ่านไป 4 ปี อาการป่วยยังอยู่ แต่เมกก็สามารถปรับตัวให้ใช้ชีวิตอยู่กับโรค MS ได้ดีขึ้น มีความคล่องตัว มีสมดุลร่างกายดีขึ้น เรียนรู้ที่จะเดินเหินโดยไม่ใช้ไม้เท้า ซึ่งเธอบอกว่ารู้สึกดีและอิสระมากๆ เธอไม่มีความเครียดและวิตกกังวลกับโรคอีกแล้ว และมีความมั่นใจในการออกไปซื้อของนอกบ้าน โดยไม่กลัวว่าตัวเองจะล้ม
4. ความเจ็บปวดระดับ 10++++
แต่หลังจากนั้นไม่นาน อาการเจ็บปวดจากโรค MS ก็กลับมาทรมานเธออีก เริ่มจากเจ็บปวดเวลาสั้นๆ แล้วหาย แต่ระยะหลังๆ ก็ปวดมากขึ้น มากขึ้น และนานขึ้น เธอเคยไปปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาการเจ็บที่มากขึ้น เคยวัดระดับความเจ็บปวด (เต็ม10) แรกๆ ก็ปวดระดับ 2 หรือ 3 แต่หลังๆ อาการปวดมากขึ้นจนถึงระดับ 10++++
เธอพยายามกินยาแก้ปวดทุกขนาน เช่น baclofen, tizanidine, gabapentin, methadone (Dolophine), clonazepam, LDN, amitriptyline, and nortriptyline แม้กระทั่งหันมาดื่มเหล้า โดยหวังว่าจะช่วยลดความเจ็บปวดลง แต่ก็ไม่ได้ผลเลยสักอย่าง มีแต่เจ็บปวดมากขึ้นๆ ทุกวัน
5. แก้ปวดด้วย "กัญชา"
จนวันหนึ่งเธอปรึกษาหมอเกี่ยวกับ "กัญชาทางการแพทย์" ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และยังได้รับใบสั่งยาประเภท MMJ ตามคำสั่งแพทย์ (ใบสั่งยาที่อนุญาตให้แพทย์ใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคได้) หมอไม่ค่อยรู้ในรายละเอียดมากนัก และแนะนำให้เธอลองค้นคว้าเพิ่มเติมดู
โชคดีที่เธออาศัยอยู่ที่วอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งกัญชาเป็นของถูกกฎหมาย แต่เธอก็ไม่ได้ตัดสินใจใช้กัญชาในทันที เพราะมีเหตุผลให้ต้องคิดหลายอย่าง เช่น เธอควรจะบอกลูกๆ ว่ายังไง? (มันเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี), คนในสังคมจะมองเธอเป็นคนขี้ยาหรือเปล่า?, แล้วถ้ามันไม่ได้ผลอีก จะทำยังไงต่อ?
6. "กัญชา" ได้ผลดีเกินคาด
หลังจากครุ่นคิดอยู่นาน ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจว่าจะใช้ "กัญชาทางการแพทย์" เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดจากโรค MS หลังจากที่เธอทดลองใช้ "กัญชาทางการแพทย์" เป็นระยะเวลา 6 เดือน เธอรู้สึกได้ว่าอาการเจ็บปวดทุเลาลงและหายไป
จนถึงตอนนี้ร่างกายของเธอกลับมาดีมาก "กัญชาทางการแพทย์" สามารถรักษาเธอได้ผล และนั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดแล้ว ซึ่งเธอยังคงมองโลกในแง่ดีว่า จะต้องมีกัญชาชนิดอื่นๆ อีก ที่สามารถรักษาอาการเจ็บปวดเหล่านี้ได้เช่นกัน เพราะจริงๆ แล้วกัญชามีหลายสายพันธุ์มาก แต่ละสายพันธุ์ก็จะมีผลในการรักษาแตกต่างกันไป
7. "กัญชา" แทบไม่มีผลข้างเคียง
ในอดีตที่เธอรักษาอาการเจ็บปวดด้วยยาเคมี เธอมีอาการข้างเคียงมากมาย เช่น วิงเวียนศีรษะ, ท้องเสีย, ท้องผูก, ตะคริว, ตาแห้ง, ปากแห้ง, กระสับกระส่าย, นอนไม่หลับ, วิตกกังวล, สมรรถภาพทางเพศลดลง เป็นต้น แต่เมื่อหันมารักษาด้วย "กัญชาทางการแพทย์" เธอพบว่า มันไม่มีผลข้างเคียงใดๆ เลย นอกจากทำให้เธอยิ้มและหัวเราะมากขึ้น
นอกจากนี้เธอยังหันมาใส่ใจกับเรื่องอาหารการกินมากขึ้น เน้นเมนูสุขภาพ เช่น ปลาทอดราดซอสทาโก้ (fish tacos), สลัดใบกัญชาสด (Rawcannabis), สลัดธัญพืช (Brown rice, organic peas, corn) ที่ราดด้วยน้ำสลัดที่ทำจากหอมใหญ่ เกลือ พริกไทย และน้ำมะนาว เป็นต้น
Comments