ที่ผ่านมาเราได้รับคำถามเกี่ยวกับการตรวจฉี่อยู่เป็นประจำ หลายๆครั้งมักเป็นคำถามซ้ำๆไม่หนีกันไปมาก วันนี้เราเลยรวบรวมคำถามยอดฮิตในประเด็นนี้มาตอบแบบเจาะลึก ให้คลายสังสัยกันไปเลย
กัญชาจะอยู่ในร่างกายนานแค่ไหน?
กัญชาตรวจโดยวัดค่าจากสาร THC ในร่างกาย ซึ่งช่วงเวลาการสะสมของสาร THC ที่อยู่ในร่างกายจะแปรผันไปตามปริมาณการใช้เป็นตัวแปรสำคัญ สำหรับผู้ใช้เป็นครั้งคราว THC อาจอยู่ในร่างกายราว 3 - 7 วัน ก่อนที่จะตรวจไม่เจอในปัสสาวะ และไม่เกิน 12 - 24 ชม. สำหรับการตรวจเลือด
กลุ่มผู้ใช้ที่ใช้บ้างหยุดบ้างแต่ไม่ตลอดเวลา อาจอยู่ที่ 10 - 30 วัน และ 2 - 4 วันสำหรับตรวจเลือด ส่วนกลุ่ม Extreme หรือกลุ่มที่ใช้วันละหลายรอบเป็นเวลานาน อาจอยู่ที่ 14 - 100 วัน และ 2 - 7 วันสำหรับตรวจเลือด ในบางเคสอาจสูงหรือต่ำกว่าปรกติได้
สาเหตุที่ทำให้ THC อยู่ในร่างกายนานเพราะ เพื่อร่างกายได้รับ THC เข้าไป ในขั้นตอนสุดท้าย THC จะถูกส่งเข้าไปย่อยสลายในตับ กลายเป็นสารชื่อ THC-COOH ก่อนจะถูกขับถ่ายออกมาเป็นปัสสาวะ แต่การที่ร่างกายได้รับ THC อย่างต่อเนื่อง THC-COOH จะถูกส่งไปสะสมอยู่ตามกล้ามเนื้อเยื่อไขมัน (Fat Tissue) ในร่างกาย ยิ่งนานยิ่งสะสมมาก และจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะและเหงื่อเรื่อยๆ แต่กว่าจะหมดก็กินเวลานานไปตามการสะสม
การตรวจหาสิ่งเสพติดมีแบบไหนบ้าง?
แบบที่ 1. การตรวจหาสารเสพติดจากปัสสาวะ
วิธีนี้เป็นวิธียอดฮิต ติดเทรนของพวกคุณตำรวจเลย เพราะเป็นวิธีที่ง่าย รู้ผลไว โดยเมื่อสารเสพติดเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะอยู่ในกระแสเลือดประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง และจะถูกขับออกทางปัสสาวะ สารเสพติดที่อยู่ในปัสสาวะจะอยู่นานหรือไม่ จะขึ้นกับประเภทของยา น้ำหนักของผู้เสพ ปริมาณที่เสพ ความถี่ของการใช้งาน ความเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะ โดยการตรวจหาสารเสพติดจะมีอยู่ 2 ขั้นตอนด้วยกัน
ขั้นตอนที่ 1. การตรวจคัดกรองขั้นต้น ขั้นนี้จะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสารชนิดใด แต่จะสามารถตรวจได้แค่ว่ามีสารเสพติดในร่างกายรึป่าว โดยการตรวจคัดตอนขั้นต้นมี 2 หลักการด้วยกัน
- หลักการทางคัลเลอร์เทสต์ (Color test) เป็นการตรวจแบบแสดงผลเป็นสี อย่างที่เราเคยได้ยินกันว่า "ฉี่ม่วงๆๆ" นั่นเอง
- หลักการทางอิมมูโนแอสเสย์ (Immunoassay) แบ่งเป็นที่ต้องใช้เครื่องอัตโนมัติในการตรวจ และใช้ชุดตรวจสำเร็จรูป (Test kits) ซึ่งจะแสดงผลเป็น บวก (positive) และ ลบ (Negative)
ขั้นตอนที่ 2. การตรวจยืนยัน (Confirmation Test) โดยใช้หลักการโครมาโตรกราฟฟี (Chromatography) ซึ่งเป็นเทคนิคการตรวจขั้นสูง สามารถตรวจพบสารเสพติดที่มีปริมาณน้อยได้และสามารถแยกชนิด ระบุประเภทของสารเสพติดได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ทั้งนี้หลักการโครมาโตรกราฟฟี (Chromatography) ยังสามารถแบ่งได้อีก 6 ประเภทดังนี้...
1.) Thin Layer Chromatography (TLC Technique) เป็นการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของสารระหว่าง กระบวนการแยกสารในขั้นตอนต่างๆ ใช้ในการยืนยันชนิดของสาร
2.) Gas Chromatography (GC Technique) เป็นการตรวจสอบหาองค์ประกอบของสารอินทรีย์ 2 ประเภท คือ สารอินทรีย์ที่ระเหยได้ง่าย และ สารอินทรีย์ที่ระเหยได้บางส่วน โดยได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะวิเคราะห์ได้รวดเร็วและมีความจำเพาะต่อสาร ใช้ได้กับตัวอย่างที่เป็นทั้งของแข็ง ของเหลว และแก๊ส
3.) Gas Chromatographic-Mass spectrometry (GC-MS Technique: GC-MS, GC-MS/MS) ใช้วิเคราะห์หาชนิดและปริมาณของสารในสภาวะแก๊ส มีความแม่นยำสูงมาก
4.) Liquid Chromatography (LC Technique) เป็นการแยกสารและตรวจวิเคราะห์เชิงปริมาณ ใช้ได้กับตัวอย่างที่เป็นของเหลว
5.) Liquid Chromatographic-Mass spectrometry (LC-MS Technique: LC-MS, LC-MS/MS) เป็นเทคนิคชั้นสูงที่มีการแยกสารที่ซับซ้อน โดยจะถูกทำให้บริสุทธิ์ก่อน
6.) LC-QTOF
แบบที่ 2. การตรวจหาสารเสพติดจากเส้นผม
เป็นวิธีการตรวจหาสารเสพติดวิธีใหม่ ที่ให้ความแม่นยำสูง วิธีนี้มีข้อดีอย่างมากเลยคือ สามารถตรวจสอบการใช้สารเสพติดย้อนหลับได้หลายเดือน ขึ้นกับความยาวของเส้นผม โดยเส้นผมของคนเรายาวเดือนละประมาณ 1 เซนติเมตร แต่มีข้อเสียคือ ต้นทุนในการตรวจสูง ใช้เวลาในการตรวจหานาน และไม่สามารถตรวจพบสารเสพติดในผู้ที่เพิ่งเริ่มเสพได้
แบบที่ 3. ตรวจเองที่บ้าน (Home Drug Test Kit)
ชุดตรวจเองที่บ้านสามารถหาซื้อตรวจได้ทั่วไปจากร้านขายยา หรือคลีนิคใกล้บ้าน
มีกัญชาที่สูบแล้วตรวจฉี่ไม่เจอจริงเหรอ?
จะเรียกว่ามีจริงก็ไม่ใช่ซะทีเดียว เพราะกลุ่มที่เสพแล้วตรวจฉี่ไม่เจอจะเป็นพวก "สารสังเคราะห์" ที่ออกฤทธิ์กับตัวรับเดียวกับกัญชา เป็นพวกที่บางคนเรียกว่า กัญชาปลอม หรือ กัญชาสังเคราะห์ ซึ่งจริงๆแล้วอันตรายถึงชีวิต
กัญชาสังเคราะห์ มักมาในรูปแบบซองสีสันฉูดฉาด เปลี่ยนตราสินค้าไปเรื่อยๆ แต่ด้านในที่อ้างว่าเป็นกัญชา จะมีลักษณะเป็นเศษๆ กลิ่นไม่เหมือนของจริง สามารถแยกแยะได้ด้วยตาเปล่า คล้ายๆกันหมด กัญชาปลอมพวกนี้เกิดขึ้นที่อเมริกาฮิตในหมู่วันรุ่นเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน จนในที่สุดก็หายไปเพราะอันตรายมากและมีคนเสียชีวิตหลายคน
ล่าสุดมีข่าวว่าย้ายแหล่งผลิตไปที่อื่น มีขายในแถบประเทศลาตินรวมถึงในแถบบ้านเราด้วย
ถ้ามีการแอบอ้างเรื่องกัญชาที่ใช้แล้วตรวจฉี่ไม่เจอ อย่าไปหลงเชื่อเลย อันตรายมากๆ
มีวิธีไหนให้สารออกจากร่างกายโดยเร็วบ้าง?
ไม่มีวิธีที่ขับสารออกได้โดยเร็วสำหรับ THC ข้อนี้ควรระวังพวกยาอวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถขับสารออกจากร่างกายได้ โดยที่จริงๆแล้ว ร่างกายของเรามีวิธีการขับสารตามธรรมชาติอยู่แล้ว นั่นคือการขับทางเหงื่อและปัสสาวะ
ส่วนวิธีอื่นๆที่ปัจจุบันได้ค้นพบเช่น ดื่มน้ำให้มากๆ ทานผลไม้ที่มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระสูง ดื่มชาเขียว พักผ่อนและออกกำลังกาย
ถ้าไปสูบกัญชาในประเทศที่ถูกกฎหมาย แล้วถูกตรวจเจอจะมีความผิดมั้ย?
ถ้าตีความตามตัวกฎหมายก็คือ ผิด (พรบ.ยาเสพติดให้โทษปี 2522) ที่เราบังคับใช้ในปัจจุบัน ระบุไว้ว่า "มาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 หรือประเภท 5" หมายความว่า เสพ ไม่ว่าบริบทใดก็มีความผิด "มาตรา 92(1) ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 57 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท"
แต่ในช่วงเวลา 34 ปี ที่เรายังใช้กฎหมายฉบับเดิมมา โลกปรับเปลี่ยนไปมากโดยเฉพาะเรื่องกัญชา มีหลายประเทศอนุญาตให้ใช้อย่างถูกกฎหมาย นั่นคือตัวอย่างหนึ่งของคำว่า "กฎหมายมีวันหมดอายุ" ได้ดี แต่ก็คงอีกไม่นาน เราคงได้ใช้กฎหมายฉบับใหม่กันสักที
เราสามารถปฎิเสธการตรวจฉี่ได้ไหม?
คำตอบคือ "ไม่ได้" กฎหมายให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ไว้โดยตรง แต่เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการตรวจเบื้องต้นเท่านั้น ในกรณีที่ตรวจแล้วเราไม่แน่ใจผลการตรวจ สามารถไปขอตรวจอย่างละเอียดที่โรงพยาบาลได้
โดนตรวจ "เจอ" แล้วทำอย่างไรได้บ้าง ต้องเสียค่าปรับเท่าไหร่?
เรื่องนี้กฎหมายมีตัวเลือกให้กับประชาชนแค่ 2 ทางเลือกคือ ลงโทษทางอาญา หรือ บังคับบำบัด ซึ่งในปัจจุบันมีประกาศจาก คสช. ฉบับที่ 108 เรื่องแนวทางการนำผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟู แต่แนวทางส่วนใหญ่ยังไม่ต่างจากเดิมมากนัก ยังคงให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจในการตัดสิน แต่ถ้าคุณสมัครใจเข้าบำบัด ก็จะไม่มีโทษทางอาญา
ในอีกนัยหนึ่ง เข้าใจว่าหลายๆคนมีหน้าที่การงาน ไม่ได้มีปัญหาชีวิต แต่ถูกดำเนินคดีหรือต้องไปบำบัด อาจะกลายมาเป็นปัญหาหนักได้ในข้ามคืน จึงกลายมาเป็นช่องว่างของการต่อรองเสนอหรือเรียกรับผลประโยชน์ ถ้ามีการเสนอผลประโยชน์ ก็อาจมีการเรียกรับสืบต่อกันไปไม่รู้จบ คุณอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วงจรนี้ไม่จบสิ้น
คงต้องวนเวียนกับวงวรเหล่านี้ต่อไปอีกสักพักหนึ่ง จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ หรือจนกว่ากฎหมายฉบับใหม่จะประกาศใช้
Kommentare