ยาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาของชาติอยู่ในขณะนี้ มีประวัติความเป็นมาอย่างไรเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะมนุษย์ได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมาเป็นเวลาช้านาน บางชนิดก็ให้ทั้งคุณประโยชน์และโทษ บางชนิดก็มีแต่โทษภัยเท่าน้ัน ซึ่งในปัจจุบันมียาเสพติดชนิดต่างๆ ในท้องตลาดมากกว่า 120 ชนิด อย่างไรก็ตามยาเสพติดชนิดแรกที่คนไทยรู้จักก็คือฝิ่น
"ฝิ่น" เข้ามาในประเทศไทยในสมัยใดนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เท่าที่มีหลักฐานครั้งแรก เป็นประกาศใช้กฎหมายลักษณะโจร ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 1903 หรือ ประมาณ 600 ปี ล่วงมาแล้ว ตามกฎหมายฉบับนี้ได้บัญญัติการห้าม ซื้อ ขาย เสพฝิ่นไว้ว่า "ผู้สูบฝิ่น กินฝิ่น ขายฝิ่นนั้น ให้ลงพระราชอาญาจงหนักหนา ริบราชบาทว์ให้สิ้นเชิง ทเวนบกสามวัน ทเวนเรือสามวัน ให้จำใส่คุกไว้กว่าจะอดได้ ถ้าอดได้แล้วเรียกเอาทานบนแก่มันญาติพี่น้องไว้แล้วจึงให้ปล่อย ผู้สูบ ขาย กินฝิ่น ออกจากโทษ"
"แม้ว่าจะมีบทลงโทษจะสูง แต่การลักลอบซื้อขายและเสพฝิ่น ก็ยังมีต่อมาโดยตลอด กฎหมายคงใช้ได้แต่ในกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น ส่วนหัวเมืองและเมืองขึ้นที่ห่างพระเนตรพระกรรณ ไม่มีการเข้มงวดกวดขัน ซึ่งปรากฎว่าผู้ครองเมืองบางแห่งก็ติดฝิ่นและผูกขาดการจำหน่ายฝิ่นเสียเองด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ปัญหาการขายฝิ่น เสพฝิ่นจึงเลิกไม่ได้ตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา"
ต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงแจกกฎหมายป่าวร้องห้ามปรามผู้ขาย ผู้สูบฝิ่น แต่ก็ยังไม่มีผล ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงได้ทรงตราพระราชกำหนดโทษให้สูงขึ้นไปอีกโดย "ห้ามอย่าให้ผู้ใดสูบฝิ่น กินฝิ่น ซื้อฝิ่นขายฝิ่นและเป็นผู้สมซื้อสมขายเป็นอันขาดทีเดียว ถ้ามิฟังจับได้ และมีผู้ร้องฟ้องพิจารณาเป็นสัจจะให้ลงพระอาญา เฆี่ยน 3 ยก ทเวนบน 3 วัน ทเวนเรือ 3 วัน ริบราชบาทว์บุตรภรรยาและทรัพย์สิ่งของให้สิ้นเชิง ให้ส่งตัวไปตะพุ่นหญ้าช้าง ผู้รู้เห็นเป็นใจมิได้เอาความมาว่ากล่าว จะให้ลงพระอาญาเฆี่ยน 60 ที"
ในรัชกาลที่ 3 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นระยะที่ตรงกับสมัยที่อังกฤษนำฝิ่นจากอินเดียไปบังคับขายให้จีน ทำให้มีคนจีนติดฝิ่นเพิ่มขึ้น และในช่วงเวลานั้นตรงกับระยะที่คนจีนเข้ามาค้าขายในเมืองไทยมากขึ้น จึงเป็นการนำการใช้ฝิ่นและผู้ติดฝิ่นเข้ามาในเมืองไทย ตลอดจนมีการลักลอบนำฝิ่นเข้ามาในเมืองไทยด้วยเรือสินค้าต่างๆ มาก จึงเป็นเหตุให้การเสพฝิ่นระบาดยิ่งขึ้น พระองค์จึงได้ทรงมีพระราชบัญชาให้มีการปราบปรามอย่างเข้มงวดกวดขันในปี พ.ศ.2382 มีผลทำให้การค้าฝิ่นและสิ่งอื่นๆ ที่ผิดกฎหมายเข้าไปอยู่ในมือของกลุ่มอั้งยี่ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และหัวเมืองชายทะเล สร้างความวุ่นวายจากการทะเลาะวิวาทระหว่างกลุ่มอั้งยี่ต่างๆ จนต้องทำให้ทหารปราบปราม
ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าการปราบปรามไม่สามารถขจัดปัญหาการสูบและขายฝิ่นได้ และก่อให้เกิดความยุ่งยากวุ่นวายขึ้น จึงทรงเปลี่ยนนโยบายใหม่ ยอมให้คนจีนเสพและขายฝิ่นได้ตามกฎหมาย แต่ต้องเรียกภาษีผูกขาดมีนายภาษีเป็นผู้ดำเนินการปรากฎว่าภาษีฝิ่นทำรายได้ให้แก่ประเทศไทยมาก ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรมราชานุภาพ ได้ทรงรวบรวมไว้ในหนังสือลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ใน "ตำนานภาษีฝิ่น" ว่าภาษีที่ได้นั้นประมาณว่าถึงปีละ 4 แสนบาท สูงอันดับที่ 5 ของรายได้ประเภทต่างๆ และได้มีความพยายามห้ามคนไทยไม่ให้เสพฝิ่น แต่ก็ไม่ได้ผลเต็มที่
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สภาพของการค้าฝิ่นยังคงเป็นอยู่เช่นเดิม คือมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เสพและติดฝิ่น ที่มีขายตามโรงยาฝิ่นโดยถูกต้องตามกฎหมาย และภาษีฝิ่นก็ยังเป็นรายได้ใหญ่ของประเทศ ทรงดำริที่จะแก้ภาษีฝิ่นที่จะทำให้มีการสูบฝิ่นน้อยลงจนสามารถเลิกได้ในที่สุด และทรงยอมให้รัฐฯ ขาดรายได้จากภาษีฝิ่น เมื่อไม่มีผู้สูบฝิ่น ความพยายามนี้ไม่เป็นผลสำเร็จในรัชสมัยของพระองค์แต่จากความพยายามนี้ ปริมาณเงินรายได้จากภาษีฝิ่นก็ลดลงและรายได้ชดเชยที่รัฐได้จากภาษีอากรยาสูบแทน
ใน พ.ศ. 2501 คณะปฎิวัติซึ่งปกครองประเทศไทยอยู่ในขณะนั้นได้พิจารณาเห็นว่า การเสพฝิ่นเป็นที่รังเกียจในวงสังคมและเป็นอันตรายแก่สุขภาพและอนามัยอย่างร้ายแรง ประเทศต่างๆได้พยายามเลิกการเสพฝิ่นและจำหน่ายฝิ่นในประเทศไทย จึงมีประกาศคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 37 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2501 ให้เลิกการเสพฝิ่นและจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร และกำหนดดำเนินการให้เสร็จเด็ดขาดภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2502 โดยกำหนดการตามลำดับดังนี้
ประกาศให้ผู้เสพฝิ่นขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เสพฝิ่นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2501
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2502 ห้ามมิให้ร้านฝิ่นจำหน่ายฝิ่นแก่ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตให้สูบฝิ่น
ยุบเลิกร้านจำหน่ายฝิ่นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2502
ให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยร่วมกันจัดตั้งสถานพยาบาลและพักฟื้นผู้อดฝิ่น
ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2502 ผู้กระทำผิดฐานเสพฝิ่นหรือมูลฝิ่น นอกจากจะต้องรับโทษตามกฎหมายแล้วยังต้องถูกส่งไปรับการรักษา ณ สถานพยาบาลและพักฟื้นผู้อดฝิ่นไม่เกิน 90 วันอีกด้วย
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้แบ่งยาเสพติดให้โทษออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้
ประเภทที่ 1 ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง มี 38 รายการ เช่น เฮโรอีน แอมเฟตามีน แมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) เอ็กซ์ตาซี และแอลเอสดี
ประเภทที่ 2 ยาเสพติดให้โทษทั่วไป มี 102 รายการ เช่น ใบโคคา โคคาอีน โคเดอีน ยาสกัดเข้มข้นของต้นฝิ่นแห้ง เมทาโดน มอร์ฟีน ฝิ่นยา (ฝิ่นที่ผ่านกรรมวิธีปรุงแต่งเพื่อใช้ในทางยา) ฝิ่น (ฝิ่นดิบ ฝิ่นสุก มูลฝิ่น)
ประเภทที่ 3 ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นต้นตำรับยาและมียาเสพติดให้โทษประเภท 2 ผสมอยู่ คือ ยารักษาโรคที่มียาเสพติดประเภท 2 เป็นส่วนประกอบอยู่ในสูตร เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้ท้องเสีย
ประเภทที่ 4 สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 1 และ 2 มี 32 รายการ เช่น อาเซติคแอนไฮไดรด์ อาเซติล คลอไรด์
ประเภทที่ 5 ยาเสพติดให้โทษที่ไม่เข้าอยู่ในประเภท 1 ถึง 4 มี 4 รายการ คือ กัญชา พืชกระท่อม พืชฝิ่น ทุกส่วนของพืชกัญชา ทุกส่วนของพืชกระท่อม และพืชเห็ดขี้ควาย
โดยห้ามมิให้ประชาชนมีไว้ครอบครองหรือเสพ แต่อนุญาตให้ใช้ในสถานพยาบาลเท่านั้น โดยเป็นในรูปแบบของสารสกัด THC ที่มีสัดส่วนแน่นอนและได้มาตราฐานทางการแพทย์เท่านั้น ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า หรือส่งออกต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 - 150,000 บาท และหากครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจะต้องระวางโทษไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2561 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ชี้แจงแนวทางการดำเนินการภายหลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีมติเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 รับหลักการร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ เพื่อผ่อนปรนการใช้ประโยชน์จากกัญชาเพื่อการศึกษาวิจัยและประโยชน์ในทางการแพทย์ โดยสามารถขออนุญาติผลิต นำเข้าหรือส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครอง รวมถึงการนำไปใช้ตามคำสั่งของการแพทย์ เพื่อการบำบัดรักษาโรคหรือเพื่อการศึกษาวิจัย
Comentários