ข้อควรรู้ : การมีกัญชาในอาหารและเครื่องสำอาง
(บทความจากนิตยสาร ฉลาดซื้อ ปีที่ 27 ฉบับที่ 242 เมษายน พ.ศ. 2564)
หลังจากรัฐไฟเขียวให้สามารถใช้กัญชามาเป็นส่วนประกอบในอาหารเครื่องดื่ม และเครื่องสำอางแล้วนั้นปรากฏว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก กรณีอาหารนั้นมีการผุดสารพัดเมนูคาวหวานมาเรียกความสนใจจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก และโฆษณากันให้ครึกโครม แต่ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็คงจะเกิดข้อห่วงใยขึ้นตามมาด้วยว่า เรื่องนี้จะมีผลกระทบกับสุขภาพตามมาอย่างไรหรือไม่ ฉลาดซื้อจึงสอบถามข้อกังวลใจนี้ต่อผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคและผู้ชำนาญการเรื่องการแพทย์แผนไทย ผู้เชี่ยวชาญการใช้ประโยชน์จากกัญชา และ อย. ซึ่งเป็นผู้ที่กำกับดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้ มานำเสนอต่อผู้อ่านเพื่อเป็นข้อพึงรู้ และข้อควรระวังหากคิดลอง กัญชาในอาหารและเครื่องสำอาง

ต้องเฝ้าระวังและดูว่าหน่วยงานจะทำหน้าที่ดูแลได้เท่าทันตลาดหรือไม่
รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่าเรื่องนี้ต้องมีการติดตามผลกระทบกันต่อไป เนื่องจากเป็นการใช้ในชีวิตประจำวัน ที่เข้าถึงได้ง่าย ซึ่งในขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อยู่ระหว่างการทยอยออกประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชาผสมใน ยาอาหารและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทว่ายังไม่ครบถ้วน
ในกรณีของการผสมในเครื่องสำอางยังอนุญาตให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอกเท่านั้น รวมทั้งการกำหนดปริมาณสารเมาหรือเตตระไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ ทั้งเครื่องสำอางและอาหารพร้อมรับประทาณ สามารถขออนุญาตผลิตได้โดยขอจดแจ้ง ส่วนอาหารที่ปรุงขายทั่วไป สามารถทำได้เลย เพียงแต่ต้องมีที่มาของกัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาตรวจสอบอยู่เสมอ ทั้งแหล่งที่มา และการปนเปื้อนของสารอื่นๆที่เป็นอันตราย เช่น โลหะหนัก

📁 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการใช้ส่วนของกัญชาในเครื่องสำอาง พ.ศ.๒๕๖๔
สำหรับแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นเนื่องจากการจดแจ้งและการตรวจสอบมีข้อกำหนดให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และอาหารเครื่องดื่มสำเร็จรูปที่ผสมกัญชาต้องขอจดแจ้ง อย. จึงควรมีการตรวจสอบคุณสมบัติและปริมาณของสาร THC ในผลิตภัณฑ์ทั้งตอนขอจดแจ้งและควรมีการตรวจสอบติดตามเมื่อวางขายในตลาดแล้วอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่พิจารณาแค่จากเอกสาร
"ฉลาก" ควรกำหนดให้ระบุข้อมูล คำเตือน และข้อห้าม การแจ้งปริมาณอย่างชัดเจน เข้าใจง่าย เช่น การห้ามใช้ในเด็ก สตรีมีครรภ์ เป็นต้น รวมทั้งจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นชัดเจน ตัวอักษรมีขนาดให้อ่านได้ไม่ยาก
"การโฆษณา" ผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะการโฆษณาบนสื่อออนไลน์ ที่ส่งต่อกันได้อย่างรวดเร็ว อาจมีข้อความที่โฆษณาเกินจริง และจูงใจให้บริโภคเกินความจำเป็น ดังเห็นจากผลิตภัณฑ์ต่างๆที่มีอยู่มากมาย รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากกัญชาที่พบว่ามีการโฆษณาบนสื่อออนไลน์แล้วทั้งๆ จึงมีคำถามว่า แล้วหน่วยงานที่รับผิดชอบจำกำกับติดตามอย่างไรให้ทันท่วงที
ปัจจุบันมีการคาดการณ์ตลาด และผลประโยชน์ที่จะได้รับจากกัญชาในเชิงเศรษฐกิจไว้สูง ซึ่งหมายความว่าจะมีผู้บริโภคจำนวนมาก มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ได้ ดังนั้นการโฆษณาคงเป็นเครื่องมือสำคัญ ผู้บริโภคต้องเท่าทันต่อการโฆษณาเกินจริง และช่วยกันสอดส่องโฆษณาผิดกฎหมายอย. ก็ต้องสร้างกดไลเพื่อติดตามจับกุม และแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตามประชาชนเองก็ควรจะรู้เท่าทัน โดนการศึกษาข้อดีข้อด้อย ข้อควรระวังก่อนใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งมีประโยชน์แต่ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยเท่านั้น ห้ามการซื้อใช้เองตามคำโฆษณา เพราะอาจได้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพ มีการแนะนำใช้ที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม
"การเลือกรับประทานอาหารเครื่องดื่ม และเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของกัญชานั้น ผู้บริโภคต้องถามตัวเองด้วยว่า มีความจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ผสมกัญชาหรือไม่ มากน้อยเพียงไร เช่น ในกรณีเครื่องสำอาง ต้องรู้ว่ามีอะไรบ้างที่ อย.อนุญาต สรรพคุณที่อ้างมีการทดสอบหรือไม่ อย่างไร เทียบเท่าหรือดีกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันราคาสมเหตุหรือไม่"
การออกแบบเมนูต้องคิดให้ดี ไม่ให้เกิดปัญหาและเยาวชนต้องได้รับการป้องกัน
ภญ. ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ระบุว่า คนไทยมีประวัติการใช้กัญชาในอาหารมานาน ตั้งแต่เป็นต้นตำรับในวัง โดยมีหนังสือแม่ครัวหัวป่าก์ปี พ.ศ. 2451 และจากการสืบค้นความรู้จากหมอพื้นบ้าน ก็พบว่าใช้ใบกัญชาเป็นส่วนผสมหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหานอนไม่หลับ รับประทานอาหารไม่ได้ แต่เมื่อรักษาหายแล้วก็หยุดยา ดังนั้นจึงมองเห็นว่าใบกัญชาน่าจะมีประโยชน์บางอย่างเมื่อผสมลงไปในอาหาร

อย่างไรก็ตามมีคนกังวลว่ากัญชาไทยมี THC สูง ดังนั้นจึงมีการสืบค้นข้อมูลในต่างประเทศ เช่นแคนาดา พบว่าหากจะนำกัญชาหรือการชงมาผสมในอาหารจะต้องมี THC น้อยกว่า 10 มิลลิกรัมต่อแพ็คเราจึงมาศึกษาและวิเคราะห์ ใบกัญชาที่รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรปลูกก็พบว่า 1 ใบ มี THC ประมาณ 1-2 มิลลิกรัม จึงไม่ควรรับประทานเกิน 5-8 ใบ จึงคิดว่าปริมาณนี้เป็นปริมาณที่แนะนำ
ทั้งนี้เมื่อรับประทานแล้วหากรับประทานใบปริมาณน้อยก็มีการศึกษาพบว่า กัญชาเป็นต้นทางของโมโนโซเดียมกลูตาเมตหรือผลชูรสนั่นเอง และในทางแผนไทยระบุว่าเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนพลังงานจีงส่งผลให้กินข้าวได้ นอนหลับดี
สำหรับ "ใบสด" ถือว่าไม่มีสารเมาแต่เป็นกรดของสารเมาที่ไม่ผ่านเยื่อหุ้มสมองเข้าไป ดังนั้นโอกาสจะเกิดอันตรายกับสมองก็น้อย แต่ถ้านำมาผ่านความร้อนจะทำให้กรดนั้นสลายไปแล้วเกิดเป็นสารเมา ดังนั้นยิ่งผ่านความร้อนมาก ก็จะยิ่งมีสารเมาในปริมาณมาก หรือถ้ามีน้ำมันอยู่ในตำรับด้วย เช่น ผัดกะเพราก็จะสกัดเอาสารเมาออกมาได้เยอะ แต่การ "ผัดให้สลบ" อย่างองค์ความรู้บางพื้นที่ คือต้มแกงให้เดือดจนทุกอย่างสุกแล้วค่อยใส่ใบกัญชาทีหลังก็จะ "แค่สลบ" สารเมาก็จะน้อย ส่วนการทอด "เทมปุระ" สารเมาก็จะน้อย เพราะไปอยู่ในน้ำมันหมด ฉะนั้นจึงเป็นที่มาของการออกแบบเมนู
การออกแบบเมนูอาหารนั้นต้องคิดเยอะ แม้ว่าทางการแพทย์ระบุว่า "การเมา" ช่วยเพิ่มความอยากอาหารและช่วยในการนอนหลับ แต่การใช้ในบางคนต้องระวังให้มาก
กลุ่มที่ต้องหลีกเลี่ยงคือ "เยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี" เพราะพัฒนาการของสมองจะสมบูรณ์ที่ 25 ปี หากได้รับสารจากกัญชาเข้าไปเร็วอาจจะเกิดผลกระทบได้ นอกจากนี้ "คนท้อง / หญิงในนมบุตร" ก็ไม่ควรรับประทาน เพราะไม่มั่นใจว่าสารนี้จะผ่านไปทางรกหรือน้ำนมหรือไม่ รวมถึงคนที่เป็น "โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ" ก็ไม่ควรรับประทาน เพราะบางผู้ป่วยอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคนั้นอยู่ทั้งในภาวะที่คุมได้หรือไม่ได้ จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการรับประทานไปเลย สุดท้ายคือ "กลุ่มที่มีการใช้ยาวาฟารีนและใช้ยาที่มีผลต่อสมอง"
ส่วนเรื่องเครื่องสำอางตอนนี้ที่ให้ใช้ จะเป็นลักษณะของ "น้ำมันเมล็ดกัญชง น้ำมันเมล็ดกัญชา" ซึ่ง มีกรดโอเมก้าที่ดีช่วยในเรื่องของความชุ่มชื้น ปรับสภาพผิวช่วยลดรอยเหี่ยวย่น แต่สิ่งที่กังวลคือสาร CBD ยังมีรายงานว่าก่อให้เกิดการระคายเคืองเช่นกัน
"เรื่องเหล่านี้จำเป็นจะต้องให้ความรู้แก่ประชาชน และผู้ประกอบการ เพราะเราจะไปตามจับคนที่ทำผิดทุกคนไม่ได้ เพราะฉะนั้นประชาชนจึงจำเป็นจะต้องรู้ว่าตัวเองควรที่ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้หรือไม่เพราะนอกจากจะไม่จำเป็นแล้วยังจะมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะได้ประโยชน์จากตรงนี้ หรือถ้าเป็นเครื่องสำอางก่อนจะซื้อ ก็ต้องดูด้วยว่ามีความคุ้มค่าที่เราจะเสียเงินหรือไม่ เช่นถ้าบอกว่าช่วยในเรื่องของการลดริ้วรอยแต่ราคาสูงมากเป็นหมื่นบาท มีเงินที่จะจ่ายตรงนี้หรือว่ามีผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆที่ช่วยในเรื่องเดียวกันแต่ราคาเหมาะสมกว่ามีหรือไม่ ต้องคิดในหลายๆมุม ซึ่งความรู้จะเป็นเรื่องพื้นฐานของการตัดสินใจ"
ส่วนหน่อยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะต้องมีการสุ่มตรวจเป็นระยะ เพราะเคยมีรายงานในต่างประเทศ พบว่าในผลิตภัณฑ์บรรจุปิดสนิท มีปริมาณ THC เกินจากปริมาณที่กำหนด ส่วนของไทยในระยะแรกคิดว่าไม่น่าจะไม่มีสารใดๆเลยมากกว่าแล้วนำมาหลอกขายในราคาสูง เพราะตอนนี้กัญชาหายากจึงต้องระมัดระวังเอาไว้ ส่วนอนาคตก็ต้องระวังมากๆ ในเรื่องการเข้าถึงของกลุ่มเยาวชน
ต้องควบคุมด้วยการมีฐานข้อมูลแหล่งปลูก ร้านจำหน่ายที่ประชาชนตรวจสอบได้สะดวก
"นายวีระพงษ์ เกรียงสินยศ" ผอ.มูลนิธิสุขภาพไทย ย้ำว่า ตนสนับสนุนเรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพราะมีการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ มีการรับรองการรักษาทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือก ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่พบว่ามีอันตรายอะไร ทั้งนี้เป็นเพราะการใช้ในทางแพทย์นั้นอยู่ภายใต้การควบคุมดูแล ทั้งในเรื่องของปริมาณที่ควรได้รับและผู้ป่วยที่ควรได้รับ จึงถือว่าสามารถควบคุมดูแลได้

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การนำส่วนต่างๆ ของกัญชามาผสมในอาหาร เครื่องดื่ม โดยพยายามชูว่าเป็นพืชสมุนไพร เป็นยาวิเศษที่จำเป็นต่อร่างกาย ตรงนี้อยากจะให้เฝ้าระวังให้มาก แม้จะตั้งความหวังเอาไว้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจแต่ต้องมีมิติในการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย เนื่องจากต้องยอมรับว่าใน ใบ กิ่ง ก้าน นั้นยังมีสารเมาอยู่บ้างแม้จะมีในปริมาณน้องก็ตาม การประกอบอาหารก็ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและใช้อย่างมีความรู้
ต้องมีมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งการที่หน่วยงานระบุว่ามีการควบคุมในส่วนของแหล่งปลูกัญชาแล้ว ส่วนใครจะซื้อส่วนประกอบกัญชา (ยกเว้นช่อดอกและใบรองดอก) มาปรุงอาหารไม่ต้องขออนุญาติอีกนั้น มองว่ายังไม่เพียงพอ ควรมีการควบคุมที่ดี โดยควรทำฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกันทั้งแหล่งปลูก และปลายทางคือร้านอาหารด้วยการจัดทำเป็นระบบฐานข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต เพราะทุกวันนี้ ประชาชนก็ไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องของการเข้าถึงเทคโนโลยีแล้ว โดยเห็นได้จากการเยียวยาช่วยเหลือจากภาครัฐให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19 ก็ดำเนินการผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้กันทั้งผู้ค้าขาย และผู้บริโภคอยู่แล้ว ซึ่งหากทำได้เท่ากับเป็นการคอยเฝ้าระวังหรือให้รู้ด้วยว่าวัตถุดิบนี้ไปอยู่ตรงไหน ซึ่งจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยและมีข้อมูลให้ประชาชนรับรู้ได้ตลอด

"ส่วนที่น่ากังวลคือกรณีใน 1 ร้านมีหลายเมนูที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบทั้งเมนูคาว และของหวานไอศกรีม รวมถึงเครื่องดื่มอาจจะทำให้ผู้บริโภคได้รับสารเมาในกัญชาจากการรับประทานเมนูที่หลากหลายได้ โดยเฉพาะเด็ก เยาวชนเพราะอย่างที่บอกว่าหลายๆ เมนูคือไอศกรีม ของหวาน ขนมเค้ก ซึ่งเป็นของที่เด็กๆ เขารับประทานกันอยู่ ตรงนี้งานทางวิชาการหรือหน่วยงานของรัฐ ควรจะมีหลักเกณฑ์อะไรหรือไม่ เพราะตอนนี้รับประทานกันเพลินเลย"
เพราะฉะนั้นในส่วนนี้จะต้องมีกำหนดการกลุ่มผู้ใช้อย่างชัดเจนโดยในส่วนเจ้าของร้านอาหาร เครื่องดื่มใดมีเมนูกัญชาเป็นส่วนประกอบควรติดป้ายประกาศให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคได้ตัดสินใจเลือกว่าจะรับประทานหรือไม่ แสดงข้อห้ามชัดเจนว่าไม่จำหน่ายให้กับเด็ก เยาวชน หญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น ส่วนภาครัฐโดยเฉพาะอย. ควรจะมีเกณฑ์ประกาศอย่างเป็นทางการว่าใครที่ไม่ควรรับประทาน หรือต้องรับประทานด้วยความระมัดระวัง และมีคำแนะนำปริมาณในการปรุง คำแนะนำปริมาณในการปรุง คำแนะนำกับผู้บริโภคด้วย ตลอดจนข้อควรระวังหลังรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา แม้จะมีปริมาณเล็กน้อย เพราะแต่ละคนมีความไวต่อปริมาณหรือสารในกัญชาไม่เท่ากัน
มีมาตรการสุ่มตรวจแน่นอนเพื่อดูว่าร้านค้าเอามาจากแหล่งที่ถูกกฎหมายหรือไม่
"ภ.ญ. สุภัทรา บุญเสริม" รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ อย.ปลดล็อค ส่วนประกอบของกัญชา ยกเว้น ดอก และใบรองดอกออกจากการเป็นยาเสพติด และอนุญาตให้นำไปเป็นส่วนประกอบในอาหารเครื่องดื่มได้นั้น ทำให้ใบกัญชา กัญชง มีความต้องการสูงมาก เพื่อนำไปประกอบในเมนูอาหาร เครื่องดื่มต่างๆ ในท้องตลาดแต่ต้องยึดหลักกฎหมายว่าต้องซื้อมาจากแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ในเรื่องของการควบคุมยังเป็นการควบคุมที่ต้นน้ำ คือแหล่งปลูกต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ซึ่งผู้ปลูกสามารถดาวน์โหลดเอกสารรับรองและนำไปแสดงต่อผู้ที่ต้องการซื้อไปเป็นส่วนประกอบอาหารได้สบายใจว่าได้รับของที่ถูกกฎหมายแน่นอน
แต่ในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านค้าที่จะใช้กัญชาไปปรุงอาหารนั้นทาง อย.ยังไม่ได้มีข้อกำหนดว่าต้องมาขออนุญาตใช้ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเปิดได้เลยตามมาตรฐานร้านอาหารปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ของกรมอนามัย แต่อย.จะมีมาตราการสุ่มตรวจเพื่อดูว่ากัญชาที่เอามาใช้นั้นมาจากแหล่งที่ถูกกฎหมายหรือไม่ ในส่วนนี้ก็ถือเป็นการควบคุมในระดับหนึ่ง แต่ไม่ต้องถึงขั้นต้องแขวนใบอนุญาตแหล่งที่มาของกัญชาให้เห็นชัดก็ได้ เพียงแต่เมื่อไรที่มีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบทางร้านจะต้องสำแดงต่อเจ้าหน้าที่ได้
สำหรับคำแนะนำแก่ผู้บริโภคนั้นเบื้องต้น อย.จะมีคำแนะนำให้ทราบตลอดถึงผลดี ผลเสีย ข้อควรระวัง และกลุ่มที่ไม่ควรรับประทานอาหาร เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา เพียงแต่ไม่ได้ออกเป็นประกาศอย่างเป็นทางการเท่านั้นอาทิ หญิงตั้งครรภ์ คนให้นมลูก เด็ก เยาวชน คนที่รับประทานยาบางประเภท เช่น ยาละลายลิ่มเลือกคนมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ต้องระมัดระวังเวลารับประทาน แต่ก็ไม่ได้ห้ามรับประทาน
"เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่าใบกัญชาไม่ใช่ผักหรือพืชผักสวนครัว เวลารับประทาน ต้องระมัดระวังเพราะแต่ละคนจะมีความไวต่อสารในกัญชาไม่เท่ากัน แม้ว่าในใบจะมี THC ต่ำแต่ก็ไม่รู้ว่าในใบยังมีสารอะไรอีกหรือไม่ ที่เรายังไม่รู้เพราะฉะนั้นการรับประทานจึงต้องระมัดระวัง"
สำหรับกรณีการนำไปผสมในเครื่องสำอางนั้น เนื่องจากพบว่ามีประโยชน์ เช่น น้ำมันเมล็ดกัญชง ให้ความชุ่มชื้น ซึ่งสาร CBD ก็ช่วยลดการอักเสบ ขณะเดียวกัน ตัวเมล็ดกัญชง มีโอเมก้า 3 มีโปรตีนสามารถนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ ปัจจุบันมีผู้มาขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชงหรือกัญชายังไม่เยอะ เพราะกฎหมายพึ่งเปิดได้ไม่นาน คาดว่าน่าจะอยู่ระหว่างการคิดค้นผลิตภัณฑ์ แต่หลังจากนี้น่าจะมีจำนวนมากขึ้น ส่วนเรื่องราคานั้น ทางอย. ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่พยายามที่จะสำรวจราคาเพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลและเป็นไกด์ไลน์เบื้องต้นสำหรับคนซื้อและคนขาย เพื่อให้เป็นราคามาตรฐานเอาไว้เพื่อทำให้ไม่เกิดการโก่งราคา
ที่มาของเนื้อหา : นิตยสาร ฉลาดซื้อ ปีที่ 27 ฉบับที่ 242 เมษายน พ.ศ. 2564 (หน้าที่ 9 - 15)
ที่มาของรูป : https://timesofcbd.com/thailand-green-lights-hemp-cbd-in-food-cosmetics-and-herbal-products/
ที่มาของรูป : https://www.88cannatek.com/article/793