top of page
ค้นหา

กัญชาและกัญชงในวัฒนธรรมญี่ปุ่น

มีเหตุผลบางประการที่ทำให้ "อดีต" ไม่ควรถูกละเลย ปล่อยให้ฝุ่นผงแห่งความล้าสมัยจับหนาจนมองไม่เห็นชั้นผิว เป็นความจริงที่ว่าเราไม่อาจผูกมัดตนเองเข้ากับอดีต เพียงแต่สิ่งที่ควรจะถูกส่งเสริมให้เกิดขึ้นคือการศึกษา "อดีต" เพื่อทำความรู้จักกับ "ปัจจุบัน" นำไปสู่ประโยชน์สุขแห่ง "อนาคต"



 

ประเทศหนึ่งที่ทำได้ดี ทั้งการย้อนกลับไปพิจารณาอดีตของตนและศึกษาเรื่องราวเหล่านั้นอย่างจริงจังเพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ในบ้านเมืองได้แก่ประเทศญี่ปุ่น ยังกรุ่นอยู่ด้วยทั้งความหวังและแรงผลักดันที่จะใช้ประโยชน์จากพืชชนิดหนึ่ง แม้ว่าพืชชนิดนั้นจะถูกตีตราต่อประชาคมโลกว่าเป็นภัยอย่างยิ่งก็ตาม "กัญชา" และ "กัญชง" โชคดีเหลือเกินที่มีผู้ศึกษา สืบค้น ก่อนจะนำมาตีแผ่ให้เป็นที่ประจักษ์อย่างที่เราท่านจะได้รู้ถึงความเป็นไปเหล่านั้นโดยสังเขปต่อไปนี้


บนแผ่นดินอาทิตย์อุทัยปรากฎหลักฐานว่ามีการเพาะปลูกกัญชงเพื่อใช้ประโยชน์ในระดับครัวเรือนตั้งแต่สมัยโจมง' คำว่า "โจมง" นี้หมายถึง "สมัยแห่งเชือก" โดยได้ชื่อจากรอยเชือกที่ทาบอยู่บนเครื่องปั้นดินเผาในสมัยนั้น และเชือกที่ว่าก็ทำขึ้นจากกัญชงนั่นเอง ชาวญี่ปุ่นในสมัยโจมงนิยมใช้ใยกัญชงทอเสื้อผ้า เชือก และตระกร้ากันทั่วไป โดยหลักฐานสำคัญได้แก่เมล็ดกัญชาและภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์บนผนัง ถ้าบริเวณเกาะคิวชูซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นภาพของต้นกัญชง อันมีลักษณะลำต้นสูงและใบที่แยกเป็นแฉก






มีความเป็นไปได้สูงว่ากัญชาและกัญชงมีต้นกำเนิดในจีนก่อนจะเดินทางผ่านเกาหลีมาถึงญี่ปุ่น เพราะในสมัยยะโออิ ซึ่งมีชาวจีนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น นอกจากอักษรคันจิซึ่งรับเอามาจากจีนแล้ว นวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากกัญชาและกัญชงในญี่ปุ่นก็ดูจะมีพัฒนาการเช่นกัน ไม่ว่จะเป็นวิธีการทำกระดาษจากใยกัญชงหรือการใช้พืชชนิดดังกล่าวเป็นยา ดังที่ปรากฎในตำรับยาของจักรพรรดิเสินหนง (Shennong Bencaojing) จักรพรรดิในตำนานพระองค์หนึ่งของจีน เมื่อแรกเริ่มอารยธรรมซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นตำรับยาฉบับแรกของโลกอีกด้วย



พืชชนิดนี้จึงมีความสำคัญต่อดำรงชีวิตด้วยประโยชน์ที่พึงเก็บเกี่ยวได้จากการทอเสื้อ สานตะกร้า ทำเชือก ทำกระดาษและใช้เป็นยา นอกจากนี้เมล็ดของมันยังมีคุณค่าทางโภชนาการไม่น้อยไปกว่าถั่วเหลือง ถือว่านำมาประกอบปัจจัยสี่ได้เกือบครบถ้วนจนเป็นที่ยอมรับว่ามีค่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเมล็ดข้าวและเกลือแต่อย่างใด


นอกจากจะปรับตัวเข้ากับสภาพทางภูมิศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดีแล้วพืชชนิดนี้ยังผนวกเข้ากับความเชื่อทางศาสนาที่ปรากฎอยู่เดิม โดยเฉพาะศาสนาชินโต(2) ซึ่งนิยมใช้ผลิตภัณฑ์จากใยกัญชงในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่นกระดาษเสื้อผ้าเชือก ฯลฯ โดยถือว่ากัญชงเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ และกัญชาเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ทั้งสองสิ่งนี้จึงมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว เชื่อว่ากระดาษและเชือกจากใยกัญชงขับไล่สิ่งอัปมงคลได้ จึงนิยมนำมาตกแต่งและใช้สักการะศาลเจ้า เสื้อผ้าที่ทอจากใยกัญชง นักบวชชินโตนิยมสวมใส่ในพิธีกรรมสำคัญ พระจักรพรรดิจำเป็นต้องทรงเครื่องด้วยฉลองพระองค์ทอจากใยกัญชงในพระราชพิธีราชาภิเษก ใช้เมล็ดกัญชาสักการะศาลเจ้าก่อนออกเดินทางเพื่อประสบกับความโชคดี ใช้ในการอวยพรบ่าวสาวในพิธีมงคลสมรส เป็นต้นฯ จะเห็นว่าวิถีปฎิบัติเหล่านี้เป็นผลสืบเนื่องจากความเชื่อ


สัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์และการเกิดใหม่ซึ่งเป็นเสน่ห์ของการยอมรับและใช้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้ในญี่ปุ่น อันแพร่หลายกว่าในประเทศอื่นๆ แม้จะเปรียบเทียบกับแดนต้นกำเนิดเช่นจีนแล้วก็ตาม


เหตุที่ชาวญี่ปุ่นรับเอาพืชชนิดนี้มาใช้ปรับเข้ากับอัตลักษณ์เฉพาะตนอย่างได้เป็นอย่างดี เห็นจะมาจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์เป็นสำคัญ โดยภูมิประเทศของญี่ปุ่นนั้นเป็นภูเขาร้อยละ 72 ของพื้นที่ทั้งหมด เหลือพื้นที่เกษตรกรรมเพียงร้อยละ 18(3) เท่านั้น การจะใช้พื้นที่ส่วนน้อยของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด จำเป็นต้องเลือกปลูกพืชอันมีสรรพคุณคุ้มค่ากับทุกตารางนิ้วที่มีอยู่นั้น

ปี ค.ศ. 1886 รัฐบาลญี่ปุ่นได้สนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกกัญชงให้จัดตั้งโรงงานแปรรูป(4) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มพูนขึ้นจากการผลิตเครื่องแบบทหารกล่าวได้ว่ากัญชงซึ่งนิยมปลูกอยู่เป็นทุนเดิม เนื่องจากสรรพคุณที่หลากหลาย ยิ่งได้รับความนิยมขึ้นอีกในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เครื่องแบบทหารยังนิยมทอจากใบกัญชงอยู่ กองทัพเรือของพระจักรพรรดิก็จำเป็นต้องใช้กัญชงมาทำเป็นเชือกกองทัพอากาศหรือก็ใช้ทำร่มชูชีพ กองทัพญี่ปุ่นจึงถือว่ากัญชงเป็นยุทธปัจจัยอย่างหนึ่ง(4)


น่าเสียดายที่ความนิยมและวัฒนธรรมนี้ต้องหยุดชะงักก่อนเดินทางมาถึงตอนอวสานหลังความปราชัยในสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นตกอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของสหรัฐอมเริกาจอมพล ดักลาสแม็คอาเธอร์ ผู้เข้ามาบริหารงานในแดนปลาดิบ ถูกทำให้ประหลาดใจอย่างใหญ่หลวง โดยการปลูกกัญชงอย่างเสรีในญี่ปุ่น(5) หลังการสำรวจพื้นที่อย่างจริงจังเพราะกัญชงและกัญชานั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมายในมาตุภูมิของเขาตั้งแต่ทศวรรษ 1930 แม็คอาเธอร์จึงเร่งดำเนินการให้มีกฎหมายควบคุม เกรงว่าถ้าปล่อยไว้จะเป็นอันตรายต่อชาวพื้นเมือง แม้ว่าชาวญี่ปุ่นจะไม่เห็นว่าการใช้กัญชา และกัญชงนั้นเป็นพิษภัยแต่อย่างใด เนื่องจากใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกชนชั้นมานานนม ชนชั้นล่างใช้เพื่อความพักผ่อนคลาย เช่นเดียวกับการดื่มสุรา ชนชั้นสูงใช้เพื่อทอเป็นเครื่องนุ่งห่มก็ดี เป็นต้น ปี ค.ศ. 1948 กฎหมายควบคุมกัญชาและกัญชงฉบับแรกถูกประกาศใช้ในญี่ปุ่นโดยกำหนดให้มีโทษทางอาญาที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ถูกบังคับใช้อย่างจริงจังนัก



กระทั่งในทศวรรษที่ 1960 เมื่อชาวญี่ปุ่นบางส่วนรวมถึงนักศึกษาได้รณรงค์ต่อต้านสงครามเวียดนาม ทางรัฐบาลเกรงว่าจะควบคุมไว้ไม่อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่อาจเอาผิดการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญที่มีต้นแบบจากสหรัฐอเมริกาซึ่งให้ความสำคัญกับเสรีภาพเหนือสิ่งอื่นใด จึงต้องนำข้อกฎหมายอื่นๆ มาช่วยเพื่อคงไว้ซึ่งเสถียรภาพของคณะรัฐมนตรีควบคุมและลดทอนกำลังของการต่อต้านกฎหมายควบคุมกัญชาและกัญชง เป็นหนึ่งในข้อกฎหมายที่ถูกนำมารับใช้วัตถุประสงค์นั้นแม้ว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือเกษตรกรก็ตามปรากฎข้อมูลแสดงให้เห็นว่าในปี ค.ศ.1948 ก่อนมีกฎหมายควบคุมจำนวนฟาร์มกัญชาและกัญชง มีถึง 25,000แห่งทั่วญี่ปุ่น แต่ในปี ค.ศ.2014 ตัวเลขลดลงเหลือน้อยกว่า 60แห่ง(7) อย่างน่าเสียดาย แต่น่ายินดีกับญี่ปุ่นที่ "เคย" มีการใช้ประโยชน์จากกัญชาและกัญชงอย่างแพร่หลาย โดยปราศจากอคติเช่นเดียวกับเกือบทุกชาติในเอเซียก่อนการก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในเวทีโลกของสหรัฐอเมริกา รวมถึงการสยายปีกของกฎหมายควบคุมพืชหชนิดดังกล่าวที่แผ่เงาบดบังสรรพคุณของมันจนหมดสิ้น ที่น่ายินดี "กว่า" นั้น จึงเป็นการที่ชาวญี่ปุ่นเริ่มหันกลับไปศึกษาความเป็นมาเพื่อบำรุงความเป็นไปของประเทศ และคงยังไม่สายเกินไปหาก "เรา" จะเริ่มทำอย่างเดียวกันบ้าง คือเริ่มเรียนรู้จากอดีตโดยหัวใจและสายตาอันเปิดกว้าง กรองเอาประโยชน์จากเรียนรู้นั้นมาใช้พัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน


(บทความโดย : วันปิติ สนองคุณ)

 

เนื้อหาและรูปภาพอ้างอิงจาก :

- นิตยสาร Highland ฉบับเดือนมกราคม 2016 (issue01) หน้าที่ 50-52

(1) Dave Olson, Hemp culture in Japan (ออนไลน์), 27 เมษายน 2558 แหล่งที่มา http://www.hempfood.com/IHA/iha04114

(2) เรื่องเดียวกัน

(3) พิพาดา ยังเจริญ, ประวัติอารยธรรมญี่ปุ่น (สมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่นในพระบรมราชูปถัมภ์, 2535), หน้า2 อ้างจาก ดาวพร นพคุณ 2533

(4) John Mitchell, The secret history of cannabis in Japan (ออนไลน์), 27 เมษายน 2558 แหล่งที่มา http://www.globalresearch.ca/the-secret-his-tory-of-cannabis-in-japan

(5) เรื่องเดียวกัน

(6) Japanhemp, The Cannabis Control Law (ออนไลน์), 27 เมษายน 2558 แหล่งที่มา http://www.japanhemp.org/en/law.htm

(7) John Mitchell, The secret history of cannabis in Japan (ออนไลน์), 27 เมษายน 2558 แหล่งที่มา http://www.globalresearch.ca/the-secret-his-tory-of-cannabis-in-japan

ดู 11 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page