จวบจนศตวรรษที่ 17 มีการเขียนถึงการใช้กัญชาทางการแพทย์ในตะวันตกน้อยมาก สิ่งที่โรเบิร์ต เบอร์ตัน (Robert Burton) นักวิชาการชาวอังกฤษอ้างถึงบ่อยๆ ในหนังสือ The Anatomy of Melancholy ได้รวม "เมล็ดกัญชง" ไว้ในรายการอันยาวเหยียดของการรักษาภาวะซึมเศร้าด้วยพืชพรรณของตน และ นิโคลัส คัลเปเปอร์ (Nicholas Culpeper) ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร ได้ใส่ชื่อกัญชงไว้เป็นยาต้านการอักเสบใน The English Physitian [sic] เป็นที่น่าสังเกตว่าการใช้งานทั้งสองแบบนั้นต้องใช้กัญชาหลายสายพันธุ์อังกฤษซึ่งมีความเข้มข้นของสารเตเตร้าไฮโดรแคนนาบินอลท (Terrahydrocannabinol หรือ THC ซึ่งเป็นสารประกอบหลักในกัญชาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท) ต่ำ และมีสารแคนนาบิออล (Cannabidiol หรือ CBD) ที่สูงกว่า ซึ่งเป็นสารต้านการอักเสบและระงับอาการวิตกกังวลที่มีประสิทธิภาพและไม่ก่อให้เกิดพิษ
ในปี 1838 กัญชาสายพันธุ์ อินดิก้า (Cannabis Indica) ถูกนำกลับเข้าสู่การแพทย์ตะวันตกโดย วิเลียม โอชอห์เนสซี (William O'Shaughnessy) จากอินเดีย ผู้ตีพิมพ์รายงานอันมีชื่อเสียงเกี่ยวกับการทดลองกับพืชชนิดนี้[10] การนำมาใช้งานในอินเดียของโอชอห์เนสซี โดยทั่วไปแล้วกัญชาเป็นทั้งยาและสิ่งที่ทำให้มึนเมา กัญชาถูกบริโภคโดยการรับประทานมากกว่าสูบ การใช้บัง (Bhang หรือกัญชาบด) ในบังลาสซี่ (Bhang lassi) หรือเครื่องดื่มที่มีนม เครื่องเทศ และกัญชาเป็นส่วนประกอบ พบเห็นได้ในอนุทวีปอินเดียมานานกว่า 1,000 ปี ที่น่าสนใจคือ สูตรในการทำ บังลาสซี่มักต้องใช้ดอกและใบกัญชามากถึง 1 ออนซ์ (28.35 กรัม) สูตรดังกว่าจะให้ THC ได้ถึง 200 มก. ต่อบังหนึ่งแก้ว ซึ่งเป็นปริมาณมหาศาล แล้วเหตุใดบังลาสซี่หนึ่งแก้วจึงไม่ได้ส่งผลมากมายนัก? นั่นเป็นเพราะโดยปกติแล้วบังจะไม่ถูกทำให้ร้อนกว่าอุณภูมิที่กรด THC (THCA) จะเปลี่ยนรูปไปเป็น THC รูปที่ทำให้มึนเมา นั่นหมายความว่ามีสารแคนนาบินอยด์ที่ไม่ละลายน้ำเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ถูกสกัดออกมา บังลาสซี่มุ่งหวังให้มีผลของกัญชาเพียงเล็กน้อย และวิธีเตรียมแบบดั้งเดิมก็เป็นการส่งเสริมผลที่ต้องการนั้น
งานของโอชอห์เนสซีในอินเดีย ซึ่งต่อมาเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษ เป็นที่รู้จักในยุโรป อันเป็นทวีปที่แพทย์ใช้เวลา 50 ปีต่อจากนั้นศึกษากัญชาและใช้กัญชาเป็นยาในปี 1887 ราฟาเอล วาลิเอริ (Raffaele Valieri) แพทย์ชาวอิตาเลียนโฆษณาประโยชน์ของกัญชงพันธุ์ท้องถิ่นที่ปลูกอยู่ในแคว้งคัมปาเนีย เพื่อเป็นสมุนไพรทางเลือกสำหรับการเตรียมกัญชาสายพันธุ์อินดิก้า ของโอชอห์เนสซี โดยมีหลักฐานเชิงสังเกตทางวิทยาศาสตร์ในยุคแรกที่สนับสนุนการใช้กัญชาที่มี CBD สูง วาลิเอริแนะนำว่ากัญชงชนิดสูดดมเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับอาการปวดประสาท (Neuropathic pain) โรคเกรฟส์ (Graves' disease หรือสภาวะภูมิต้านตนเอง) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease หรือ COPD) โรคหอบหืด และไมเกรน
เจ.อาร์.เรย์โนลด์ส (J.R. Reynolds) แพทย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชีนีนาถวิกตอเรียเขียนไว้ใน The Lancet (วารสารการแพทย์อังกฤษที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง) ในปี 1890 ว่า "ในโรคภัยที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดเกือบทุกชนิด ผมว่ากัญชงอินเดียเป็นยาที่มีประโยชน์มากที่สุดเท่าที่เคยพบมา
อ้างอิงจากหนังสือ : กัญชาทางการแพทย์ Cannabis Pharmacy (Michael Backes) (หน้าที่ 26-27)