มนุษย์อาจเพาะปลูกกัญชามายาวนานกว่าพืชชนิดอื่น โดยปลูกไว้เพื่อเอาเส้นใย และอาจเพื่อทำเป็นยาและเพื่อความมึนเมา เป็นเวลาอย่างน้อย 12,000 ปี นับตั้งแต่สิ้นสุดยุคน้ำแข็งครั้งหลังสุด
ในปี 2016 มีสมมติฐานว่าต้นกำเนิดของกัญชาเกิดบนที่ราบสูงทิเบตฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ในเอเซียกลาง เมื่อประมาณ 27.8 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นการแยกออกมาจากสกุล Humulus (ฮอปส์)1 มีการค้นพบซากมนุษย์อายุสี่พันปีที่แถบเทือกเขาอัลไตทางตอนเหนือของที่ราบสูงทิเบต ต้นกัญชาที่เติบโตไปตามริมฝั่งแม่น้ำของภูมิภาคนั้นจึงอาจเรียกความสนใจครั้งแรกจากมนุษย์ในฐานะที่เป็นแหล่งอาหาร
หลักฐานการใช้กัญชาที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งยังหลงเหลืออยู่คือชิ้นส่วนเมล็ดกัญชาแห้งอายุ 10,200 ปี ซึ่งพบในโถดินเหนียว ณ จุดขุดค้นทางโบราณคดีญี่ปุ่นยุคโจมง บนเกาะโอกิโนะชิมะ ใกล้กับเมืองมุนาคาตะ บนเกาะใต้ของคิวซู ในประเทศญี่ปุ่น นักวิจัย เดฟ โอลสัน (Dave Olson) ได้กล่าวไว้ว่า "ภาพเขียนถ้ำยุคหินใหม่จากชายฝั่งทะเลเกาะคิวชูทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นวาดให้เห็นก้านสูงพร้อมใบรูปทรงคล้ายใบกัญชง ผู้คนแต่งตัวประหลาด ม้า และเกลียวคลื่นก็รวมอยู่ในวาดเช่นกัน บางทีเป็นการวาดให้เห็นถึงการที่พ่อค้าชาวเกาหลีนำกัญชงเข้ามาในญี่ปุ่น"
กัญชาอาจแพร่กระจายไปทั่วยูเรเชียเมื่อ 5,000 ปีก่อน หลังจากที่มีการนำม้ามาเลี้ยงและการเกิดขึ้นของเส้นทางยุคสำริด อันเป็นเส้นทางบุกเบิกที่ยากลำบากของเส้นทางสายไหมในเวลาต่อมา ในฐานะที่เป็นพืชอเนกประสงค์ กัญชาอาจเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีมูลค่าเป็น "พืชเศรษฐกิจที่มีมาก่อนเงินสด"
ในฐานะเครื่องดองของเมา เศษซากเมล็ดกัญชาไหม้เกรียมที่พบในโรมาเนียและคอเคซัสเหนือแสดงหลักฐานว่ามีการเผากัญชาในพิธีศพยุคสำริด ซึ่งสนับสนุนคำอธิบายของเฮโรโดตุสถึงการโห่ร้องอย่างมีความสุขของชาวไซเธียน หลังสูดอากาศภายในเต็นท์ที่เต็มไปด้วยควันกัญชา
หลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดของกัญชาที่ใช้เป็นยาถือกำเนิดขึ้นในยุคจีนโบราณ โดยมีกัญชาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าเกี่ยวกับพืชในตำนานจากรุ่นสู่รุ่น คตินิยมนี้ย้อนหลังไปไกลถึงยุคจักรพรรดิเฉินหนง ผู้ซึ่งครองราชย์เมื่อ 4,700 ปีก่อน ในพระบรมราโชวาท พระองค์ได้ตรัสว่ากัญชาเป็นยาสมุนไพรที่มีความสำคัญพอๆ กับโสมและอีเฟดรา ในช่วงศตวรรษแรกแห่งคริสตกาล คตินิยมตามคำบอกเล่าของชาวจีนเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ได้ขยายครอบคลุมอาการเจ็บป่วยกว่า 100 อาการ ความรู้นี้ถูกรวบรวมไว้ในตำรับยาจีนเล่มแรกที่มีชื่อว่า เปิ่นเฉ่าจง (pen-ts'ao ching)
ตั้งแต่ 1,500 ถึง 2,000 ปี ก่อนคริสตกาล กัญชาถูกนำมาใช้เป็นยาในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน ในอียิปต์และกรีซ และในอินเดีย ในคัมภีร์อเวสตะ ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญในศาสนาโซโรอัสเตอร์แห่งเปอร์เซียโบราณ (อีรักในปัจจุบัน) กัญชาถูกจัดออกในอันดับพืชสมุนไพรที่สำคัญที่สุดของพืชสมุนไพรทั้งหมดที่เป็นที่รู้จัก ยิ่งไปกว่านั้น นักมนุษวิทยาชาวโปแลนด์ ซูลา เบเน่ต์ (Sula Benet) อ้างว่ากัญชาซึ่งมีส่วนผสมที่สำคัญของ q'nehbosm ในสูตรน้ำมันเจิมอันศักดิ์สิทธิ์ได้รับการกล่าวไว้ในพระธรรมเอ็กโซโดของพันธสัญญาเดิมหรือคัมภีร์ฮิบรู
ในช่วงต้นของการแพทย์อิสลาม กัญชาได้รับทั้งการยกย่องว่ามีประโยชน์อย่างกว้างขวางและถูกกล่าวโทษว่าเป็นพิษ โมฮัมมัด-เอ ซากาเรีย-ยี ราชิ (Mohammad-e Zakariã-ye Rãzi) นายแพทย์ชาวเปอร์เซียผู้ยิ่งใหญ่ (ช่วงคริสตศักราช 865-925) อ้างอิงถึงการใช้งานที่หลากหลายของกัญชาในฐานะเป็นยา ในขณะที่นายแพทย์ อีบัน วาชิยา ในสมัยศตวรรษที่ 10 กล่าวไว้อย่างแปลกๆ ในหนังสือ On Poisons ของตนว่าเพียงกลิ่นของเรซินกัญชาก็อาจฆ่าคนได้ภายในไม่กี่วันที่ได้สัมผัส
อ้างอิงจากหนังสือ : "CANNABIS PHARMACY" กัญชาทางการแพทย์ เขียนโดย : ไมเคิล แบกเกส (Michael Backes) (หน้าที่ 22-24)